Page 14 - รพ.บุษราคัม
P. 14

เรื่องเล่า...โรงพยาบาลบุษราคัม


                 ในความคิดของนายแพทย์เกียรติภูมินั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีโรงพยาบาลสนาม
          ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าโรงพยาบาลสนามธรรมดาทั่วไปในกรุงเทพมหานคร
                 ในเวลานั้นโรงพยาบาลสนามทั่วไปจะสร้างขึ้นมา เพื่อรองรับและดูแลผู้ป่วยสีเขียว
          หรือผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงทั้งหมด ขณะที่ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากกว่าอย่างผู้ป่วย
          สีเหลืองและผู้ป่วยที่มีอาการหนักและวิกฤตอย่างผู้ป่วยสีแดง  จะเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาล
          ทั่วไปที่ทำหน้าที่ในการรักษา ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข วัย 59 ปี คิดว่าหากมี
          โรงพยาบาลสนามที่มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับและดูแลรักษาผู้ป่วยสีเหลืองได้ก็จะช่วย
          แบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลใหญ่ไปได้มาก ทางโรงพยาบาลจะได้เอาเวลาไปดูแลผู้ป่วยสีแดง
          หรือผู้ป่วยที่มีอาการหนักจริง  ๆ  รวมไปถึงผู้ป่วยในโรคอื่น  ๆ ด้วย ขณะเดียวกันปัญหา
          ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลก็จะลดลง
                 “ในช่วงเวลานั้นมีผู้ป่วยโควิด 19 เพิ่มขึ้นถึงวันละประมาณ 2,000 คนต่อวัน
          แล้วกราฟก็มีแต่จะพุ่งสูงขึ้น เพราะฉะนั้นการมีโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยใน
          กรุงเทพมหานครเป็นเรื่องที่จำเป็นมากในเวลานั้น ซึ่งโรงพยาบาลสนามที่จะสร้างขึ้นนั้น
          นอกจากจะต้องมีประสิทธิภาพแล้วยังต้องสามารถรองรับผู้ป่วยได้เป็นจำนวนมากประมาณ
          หนึ่งด้วย เพื่อที่จะสามารถแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลได้”
                 โดยเบื้องต้นท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข วาดหวังไว้ว่าต้องการให้โรงพยาบาลสนาม
          ที่เขาคิดไว้สามารถรองรับผู้ป่วยโควิด 19 สีเหลืองได้ไม่น้อยกว่า 3,000 เตียง อย่างไรก็ตาม
          การที่จะสร้างโรงพยาบาลสนามที่มีความจุมากขนาดนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่าย ๆ
          เนื่องจากตามตัวบทกฎหมายแล้วกรุงเทพมหานครถือเป็นเขตปกครองพิเศษ การที่อยู่ ๆ
          กระทรวงสาธารณสุขจะไปกำหนดนโยบายหรือสร้างอะไรโดยพลการจึงไม่สามารถทำได้
          แม้ว่าสถานการณ์ในเวลานั้นจะมีความจำเป็นอย่างมากก็ตามที
                 เมื่อติดเรื่องกฎหมายทำให้ไม่สามารถสร้างโรงพยาบาลสนามขึ้นได้ในเขตกรุงเทพมหานคร
          ทำให้ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุขคิดว่าอาจต้องจัดการสร้างขึ้นในจังหวัดใกล้กับเมืองหลวงแทน
          เนื่องจากว่าผู้ป่วยในกรุงเทพมหานครก็สามารถที่จะเดินทางมาได้ ขณะที่ผู้ติดเชื้อโควิด 19
          ในเขตปริมณฑลก็จะได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน
                 “ในเวลานั้นไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพมหานครที่เริ่มมีการแพร่ระบาดในระลอกใหม่ แต่ได้เริ่ม
          กระจายไปยังจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกันไม่ว่าจะเป็นนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ฯลฯ
          ในเมื่อไม่สามารถสร้างในกรุงเทพมหานครได้ เราจึงต้องคิดสร้างในจังหวัดที่อยู่ใกล้ ๆ กันแทน”
                 แม้จะรู้ว่าต้องปักหมุดในจังหวัดใกล้เมืองหลวง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเนรมิตทุกอย่างขึ้นได้ทันที
          เรื่องสถานที่ที่เหมาะสมคือปัญหาใหญ่ในเวลานั้น สถานที่ต้องกว้างขวาง เป็นสัดส่วนและ
          สะดวกในการคมนาคม ฯลฯ

                                       โรงพยาบาลบุษราคัม กระทรวงสาธารณสุข       5
   9   10   11   12   13   14   15   16   17   18   19