Page 15 - รพ.บุษราคัม
P. 15
เรื่องเล่า...โรงพยาบาลบุษราคัม
ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ติดต่อและเดินทางไปสำรวจสถานที่อยู่ 2 - 3 แห่ง
แต่ก็ดูเหมือนจะติดปัญหาอยู่บางประการ ครั้งหนึ่งเคยจะสร้างโรงพยาบาลสนามที่จังหวัด
พระนครศรีอยุธยา แต่สุดท้ายด้วยความที่ตั้งอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ถึงร่วม 40 - 50 กิโลเมตร
จึงเป็นการไม่สะดวกแน่หากผู้ป่วยโควิด 19 จากเมืองหลวงนับพันชีวิตจะต้องเดินทางไปที่นั่น
ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุขใช้เวลาในการครุ่นคิดอยู่พักใหญ่ กระทั่งเช้าวันหนึ่ง
ขณะขับรถไปทำงานก็เห็นสถานที่แห่งหนึ่งที่น่าจะเหมาะสมในการตั้งเป็นโรงพยาบาลสนามขึ้นมา
“ตอนนั้นเราคิดแต่ว่าจะหาสถานที่ที่ไหนในการสร้างโรงพยาบาลสนามดี
เพราะโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครเริ่มจะเอาไม่อยู่แล้ว พอดีบ้านเราอยู่เมืองเอกตอนเช้า
เดินทางมาทำงานที่กระทรวงสาธารณสุขต้องขับรถขึ้นทางด่วนผ่านเมืองทองธานีทุกวัน
ก็คิดว่ามันน่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะใช้พื้นที่ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี เอามาทำเป็น
โรงพยาบาลสนามได้ จากนั้นก็ลองให้คนติดต่อไป”
ในขณะที่อยู่ระหว่างการรอคำตอบ ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ลงพื้นที่ไปดูสถานที่จริง
ก็พบว่า ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี มีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะทำเป็นโรงพยาบาลสนาม
ในส่วนของชาเลนเจอร์ฮอลล์ทั้ง 3 ฮอลล์ น่าจะรองรับเตียงผู้ป่วยได้ห้องละ 1,000 - 1,200 เตียง
เป็นอย่างน้อย ขณะเดียวกันก็ได้หาสถานที่อื่น ๆ ไว้เป็นทางเลือกสำรองด้วย อาทิเช่น ไบเทค บางนา
“เราลงพื้นที่ไปดูแล้วพบว่าอิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี มีความเหมาะสมเป็น
อย่างมาก ขั้นแรกเลยตำแหน่งที่ตั้งก็อยู่ในจังหวัดนนทบุรี สามารถดำเนินการได้โดยไม่ติด
ข้อกฎหมาย ข้อต่อมาคือมีความเป็นเอกเทศแยกจากชุมชนชัดเจน ขณะเดียวกันก็มีห้องน้ำ
แล้วก็มีห้องอเนกประสงค์ต่าง ๆ ค่อนข้างพร้อม ประกอบกับที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี
ในช่วงนั้นเขาก็ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไร
ตอนนั้นเราก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็นโรงพยาบาลสนามที่มีลักษณะพิเศษมากมายอะไร
เพียงแต่ว่าเราตั้งใจจะดูแลผู้ป่วยสีเหลือง ขณะที่ผู้ป่วยสีเขียวที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ
ก็ให้โรงพยาบาลเอกชนที่มี Hospitel รองรับเขาดูแลไป ซึ่งถ้าเราดูแลผู้ป่วยสีเหลือง
ให้เขาหายดี และไม่พัฒนาไปเป็นผู้ป่วยสีแดงที่มีอาการหนักหรือเข้าขั้นวิกฤตได้ก็จะช่วย
แบ่งเบาภาระโรงพยาบาลของรัฐและบุคลากรทางการแพทย์ไปได้อีกมาก”
ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างโรงพยาบาลสนามขึ้นมาโดยมีเป้าหมายดูแลรักษาผู้ป่วย
โควิด 19 สีเหลือง ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงคิดว่าชื่อของโรงพยาบาลสนามแห่งนี้
จึงควรเป็นสัญลักษณ์อะไรสักอย่างที่บ่งบอกถึงสีเหลืองและความมีคุณค่า
หลังจากคิดอยู่สักพักในที่สุดปลัดกระทรวงสาธารณสุขผู้มากความสามารถก็ตั้งชื่อ
โรงพยาบาลนั้นขึ้นมา
โรงพยาบาลสนามแห่งนี้มีชื่อว่า ‘โรงพยาบาลบุษราคัม’
6 โรงพยาบาลบุษราคัม กระทรวงสาธารณสุข