Page 92 - รพ.บุษราคัม
P. 92
เรื่องเล่า...โรงพยาบาลบุษราคัม
โดยส่วนมากเจ้าหน้าที่มักจะมอบหมายผู้ป่วยที่แข็งแรงและฟื้นตัวเร็วให้เป็น
ผู้ใหญ่บ้านคอยดูแลลูกบ้านในโซนที่ตัวเองอยู่ เนื่องจากไม่สามารถเข้าไปดูผู้ป่วยได้ตลอด
24 ชั่วโมง ด้วยเหตุนี้การมีอาสาสมัครอย่างผู้ใหญ่บ้านคอยช่วยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
ให้จึงมีความสำคัญมาก ศุภวัฒน์ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ใหญ่บ้านโซน E หน้าที่หลัก ๆ
ของเขาจะเป็นเหมือนผู้ช่วยพยาบาล คอยช่วยเจ้าหน้าที่วัดความดัน เปลี่ยนแพมเพิสให้กับ
ผู้ป่วยที่ดูแลตัวเองไม่ได้ รวมทั้งคอยเป็นตัวกลางประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่กับคนไข้
เวลาเกิดเหตุฉุกเฉินร้ายแรงขึ้น ผู้ใหญ่บ้านเมื่อเห็นเหตุการณ์ก็จะรีบแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่
หากทีมแพทย์ต้องการให้ช่วยดูแลคนไข้คนไหนเป็นกรณีพิเศษก็จะโทรบอกผู้ใหญ่บ้าน
ให้รับทราบ ขณะเดียวกันหากมีปัญหาสิ่งใด ต้องการให้เกิดการปรับเปลี่ยนแก้ไข ผู้ใหญ่บ้าน
ก็สามารถนำเรื่องดังกล่าวบอกกับทีมแพทย์เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมได้เลย
“ในส่วนที่รับผิดชอบเราจะเดินทุกซอยเพื่อดูความเรียบร้อยว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
คนไหนซึ่งเป็นผู้ป่วยที่มีอาการหนักหรือช่วยเหลือตัวเองได้ค่อนข้างลำบาก ไม่มีใครดูแล
เราก็จะคอยดูแลจัดการให้ หรือคนไหนที่อยู่ไกลหูไกลตาจริง ๆ เราก็จะบอกเจ้าหน้าที่แล้ว
ย้ายเตียงเขามาอยู่ข้าง ๆ เราเลย เพื่อที่จะดูแลได้อย่างทั่วถึง ซึ่งในช่วงนั้นก็ตรงกับ
ช่วงเดือนกันยายน เตียงเริ่มว่าง เนื่องจากโรงพยาบาลใกล้จะปิดทำการแล้วก็เลยตั้งใจว่า
เราอยู่ช่วยเจ้าหน้าที่ไปถึงวันที่โรงพยาบาลปิดเลยดีกว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเราจะกลับบ้าน
เมื่อวันที่โรงพยาบาลปิดทำการ”
จากที่จะกลับบ้านภายในไม่กี่วัน ศุภวัฒน์ตัดสินใจอยู่ต่อเป็นเวลาร่วมเดือน มีคนไข้
ที่เป็นผู้สูงวัยหลายราย ชายวัย 51 ปี คนนี้ยินดีเช็ดอุจจาระเช็ดปัสสาวะให้โดยไม่รังเกียจ
คอยดูแลหาข้าวหาปลามาให้กิน ยามว่างก็ตัดผมโกนหนวดโกนเคราให้ดูดีดูเรียบร้อย และ
ต้องพูดถึงงานหลักที่คอยวัดความดันแล้วก็คอยประสานงานกับเจ้าหน้าที่เวลาเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน
“ถ้าถามว่าทำไมเรารักษาตัวจนหายดีแล้วถึงเลือกที่จะไม่กลับบ้านไปนอนไปพักผ่อน
ให้สบาย หลัก ๆ เลยก็น่าจะมีอยู่ 3 เหตุผลด้วยกัน ข้อแรกเราเห็นเจ้าหน้าที่ เขาทำงานหนักก็เลย
อยากที่จะช่วยให้งานเขาเบาลง ข้อ 2 เราจำได้ว่าวันแรกที่เราเข้ามาโรงพยาบาลบุษราคัม
คนที่เป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นจิตอาสาคนก่อนหน้า ช่วยเราไว้เยอะมาก เมื่อเราได้รับแล้วก็อยากจะ
ส่งต่อให้กับผู้ป่วยในรุ่นต่อไป ส่วนข้อสุดท้ายคงเป็นเพราะเราเคยผ่านช่วงเวลาแห่งความเป็น
ความตายมา ตอนที่ค่าออกซิเจนต่ำลงเหลือแค่ 67 เรารู้เลยว่าชีวิตมันมีค่าแค่ไหนเพราะฉะนั้น
เราจึงอยากที่จะทำอะไรก็ได้ให้คนที่ป่วยแบบเราเขาได้มีชีวิตอยู่ต่อได้กลับไปหาครอบครัว”
คงไม่เป็นไรหรอกถ้าเราจะกลับบ้านช้าลงอีกหน่อย แต่ได้ทำให้คนอื่นมีโอกาสที่
จะหายป่วยและกลับบ้านได้เหมือนกับเรา
โรงพยาบาลบุษราคัม กระทรวงสาธารณสุข 83