Page 744 - Best practice_Oral2024 (อัพเดต)
P. 744
T31
Palliative Care Fast Track for Last Wishes and Last Hours
นางศิริพร เสมสาร
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี จังหวัดกรุงเทพมหานคร เขตสุขภาพที่ 13
ประเภท วิชาการ
ความสำคัญของปัญหา
แนวทางการดูแลแบบประคับประคอง ถือเป็นศาสตร์หนึ่งที่ช่วยลดความทุกข์ทรมานทางกาย จิตใจ
สังคม และจิตวิญญาณ ทั้งยังส่งเสริมให้ทั้งผู้ป่วย และครอบครัว/ผู้ดูแล มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ช่วยให้ผู้ป่วย
ได้รับการตอบสนองความต้องการในวาระสุดท้ายอย่างสมศักดิ์ศรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะเวลาที่เหลืออยู่
อย่างจำกัดของตัวผู้ป่วยเอง
ในแต่ละปีจำนวนผู้ป่วยที่ส่งปรึกษาทีมดูแลแบบประคับประคองมีจำนวนมากขึ้น จากข้อมูลของศูนย์
ความเป็นเลิศด้านการดูแลแบบประคับประคอง คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้ป่วยรายใหม่ที่ส่ง
ปรึกษาในปี 2566 มีจำนวน 1,756 ราย ในจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดมีผู้ป่วยที่มีระดับ PPS 10 % (Palliative
Performance Scale: PPS) ซึ่งเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ไม่รู้สึกตัว นอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา ไม่สามารถ
ช่วยเหลือตนเองได้ คิดเป็นร้อยละ 19.31 ในจำนวนนี้ มีบางครอบครัวภายหลังได้พูดคุยกับทีมรับทราบ
สถานการณ์ความเจ็บป่วยในระยะวิกฤต รวมถึงได้รับการประเมินเป้าหมายการดูแลแล้ว ต้องการพาผู้ป่วย
กลับไปเสียชีวิตที่บ้าน ผู้ป่วยกลุ่มนี้ถูกส่งปรึกษาจากแผนกฉุกเฉินถึงร้อยละ 60 และจากแผนกวิกฤตร้อยละ 30
เพื่อให้ทีมทำการวางแผนส่งผู้ป่วยกลับไปเสียชีวิตที่บ้านตามความประสงค์ของครอบครัวให้ทันการณ์
ที่ผ่านมาระบบการวางแผนจำหน่าย ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดความล่าช้า ไม่ว่าจะเป็น
ระบบงานมีความเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย เช่น มีหลายทีมร่วมดูแล การบริหารจัดการกระบวนการทำงานของ
แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ระยะเวลาที่ถูกจำกัดสืบเนื่องจากความรุนแรงของตัวโรค
ที่ลุกลาม ร่วมกับภาวะแทรกซ้อนอันนำมาสู่ในระยะวิกฤต ทำให้พยากรณ์ได้คร่าวๆว่าผู้ป่วยจะมีระยะเวลา
เหลือน้อยลง หลายครั้งที่ทีมไม่สามารถสานความปรารถนาในวาระสุดท้ายของผู้ป่วยและครอบครัวให้บรรลุ
ตามวัตถุประสงค์ได้ ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตที่โรงพยาบาล จึงนำมาซึ่งการวางแผนประสานความช่วยเหลือระหว่าง
ทีมที่ต้องเร่งรีบเพื่อสานต่อความปรารถนาในครั้งสุดท้ายของผู้ป่วยและครอบครัว ในการส่งผู้ป่วยกลับไปอยู่
ท่ามกลางความอบอุ่นของคนที่เขารัก ในสถานที่ที่พวกเขาเลือกเองอย่างสมศักดิ์ศรี
วัตถุประสงค์การศึกษา
1. เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการตอบสนองความต้องการการดูแลในวาระสุดท้ายอย่างสมศักดิ์ศรี
2. เพื่อปรับปรุงช่องทางการจำหน่ายในผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
วิธีการศึกษา
พัฒนารูปแบบกระบวนการจำหน่ายในผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้มีความสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น ดังนี้
1. ประชุมทีม เพื่อทบทวนประเด็นปัญหาที่พบจากแนวปฏิบัติในการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยในรูปแบบเดิม
2. สร้างแนวปฏิบัติใหม่ ในการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ต้องการกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน
เป็นกระบวนการที่รัดขั้นตอน กระชับเวลา ลดระยะเวลาในการรอคอยจากกระบวนการจำหน่ายในรูปแบบเดิม
3. กำหนดบทบาทหน้าที่ของสมาชิกในทีม เพื่อการบริหารจัดการได้รวดเร็วตามกิจกรรมที่สอดคล้อง
4. คัดเลือกเฉพาะผู้ป่วยที่ส่งปรึกษาแบบเร่งด่วน (ภายใน 24 ชั่วโมง)
5. คัดเลือกผู้ป่วยที่อยู่ในระยะวิกฤต และมีภาวะคุกคามถึงชีวิต ที่มีคะแนนระดับความสามารถในการ
ทำกิจวัตรประจำวัน (Palliative Performance Scale: PPS) เท่ากับ 10%