Page 746 - Best Practice Poster 2024 (อัพเดต)
P. 746
S1
ประสิทธิผลของน้ำมันกัญชาตำรับหมอเดชาต่ออาการนอนไม่หลับและคุณภาพชีวิต
ในคลินิกกัญชาทางการแพทย์ โรงพยาบาลบึงกาฬ
ภก.ทวิช โมระพัฒน์, ภญ.นันทนา เสียงล้ำ
กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลบึงกาฬ
เขตสุขภาพที่ 8
ประเภทวิชาการ
ความสำคัญของปัญหาวิจัย
ในปัจจุบันมีการนำสารสกัดกัญชามาใช้ในการรักษาอาการนอนไม่หลับมากขึ้น ถึงแม้ข้อมูล
การศึกษาวิจัยทางวิชาการได้จัดโรคหรือภาวะการนอนไม่หลับ อยู่ในกลุ่มโรคและอาการทางระบบประสาท
ที่ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะนำสารสกัดจากกัญชามาใช้ในมนุษย์ข้อมูลที่มีอยู่ยังไม่มีผลลัพธ์ชัดเจน รวมทั้ง
ขาดข้อมูลของการใช้ในระยะยาว ผู้วิจัยซึ่งเป็นผู้ที่รับผิดชอบให้บริการเภสัชกรรมในคลินิกกัญชาทางการแพทย์
นี้ จึงมีความสนใจที่ต้องการศึกษาประสิทธิผลของการใช้น้ำมันกัญชาหมอเดชาต่ออาการนอนไม่หลับและ
คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่มารับบริการในคลินิกกัญชาทางการแพทย์ เพื่อจะนำข้อมูลจาการวิจัยไปเป็น
ข้อเสนอแนะต่อผู้เกี่ยวข้องในการตัดสินใจเลือกใช้น้ำมันกัญชาในการรักษาอาการนอนไม่หลับของผู้ป่วย
ที่มารับบริการในคลินิกกัญชาทางการแพทย์ และสามารถใช้เป็นข้อมูลวิชาการเสนอเป็นทางเลือกในการรักษา
(alternative medicine) โรคหรือภาวะการนอนไม่หลับ และกำหนดแนวทางในการศึกษาวิจัยผลของ
การใช้น้ำมันกัญชาในประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้องต่อไป
วัตถุประสงค์การศึกษา
1. เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการใช้น้ำมันกัญชาหมอเดชาต่ออาการนอนไม่หลับของผู้ป่วย
ที่มารับบริการในคลินิกกัญชาทางการแพทย์โรงพยาบาลบึงกาฬ
2. เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการใช้น้ำมันกัญชาหมอเดชาต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่มารับบริการ
ในคลินิกกัญชาทางการแพทย์โรงพยาบาลบึงกาฬ
วิธีการศึกษา
เป็นการวิจัยเชิงทดลองเบื้องต้น (Pre-experimental research) เป็นการออกแบบการทดลองที่
ไม่มีการสุ่ม ไม่มีกลุ่มควบคุม มีการทดลองเพียงกลุ่มทดลองกลุ่มเดียว เพื่อศึกษาประสิทธิผลภายหลังได้รับ
การใช้น้ำมันกัญชาหมอเดชาต่ออาการนอนไม่หลับและคุณภาพชีวิต กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยนอกที่มารับ
การรักษาด้วยภาวะนอนไม่หลับที่คลินิกกัญชาทางการแพทย์ โรงพยาบาลบึงกาฬ และได้รับน้ำมันกัญชาหมอเดชา
รักษาอาการนอนไม่หลับ ระหว่างเดือนมิถุนายน - ตุลาคม พ.ศ. 2566 โดยกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้
ผู้วิจัยได้ใช้ข้อมูลกลุ่มประชากรที่ผ่านเกณฑ์การคัดออกทั้งหมด เป็นจำนวน 62 คน โดยนัดติดตามอาการ
นอนไม่หลับและคุณภาพชีวิตหลังได้รับน้ำมันหมอเดชาในสัปดาห์ที่ 4 เก็บข้อมูลโดยใช้แบบเก็บข้อมูล
การรับบริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ ข้อมูลทั่วไป ข้อมูลทางสุขภาพ
แบบประเมินอาการนอนไม่หลับ(Insomnia Severity Index; ISI) และแบบประเมินคุณภาพชีวิต EQ-5D-5L
สถิติเปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนการประเมินผลการนอนไม่หลับและคะแนนคุณภาพชีวิต
ก่อนและหลังได้รับน้ำมันกัญชาหมอเดชา โดยใช้สถิติ Dependent t-test ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ p<0.05