Page 353 - Best practice_Oral2024 (อัพเดต)
P. 353
J11
ผลของการผ่าตัดต้อกระจกโดยวิธีสลายต้อกระจกต่อความดันตา
ในผู้ป่วยต้อหินมุมปิดปฐมภูมิของโรงพยาบาลพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
นายแพทย์เธษฐา คันธา
โรงพยาบาลพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เขตสุขภาพที่ 6
ประเภท วิชาการ
ความสำคัญของปัญหาวิจัย
โรคต้อหินเป็นโรคทางตาที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขในทุกประเทศทั่วโลก เป็นสาเหตุอันดับสอง
ที่ทำให้ประชากรทั่วโลกตาบอดรองจากต้อกระจก และเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการสูญเสียการมองเห็นถาวร
ส่งผลถึงวิถีการดำเนินชีวิตมีผลทำให้ผู้ป่วยโรคต้อหินมีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าคนปกติในหลาย ๆ ด้าน สามารถ
แบ่งกลุ่มต้อหินจากการตรวจมุมตาได้เป็นต้อหินมุมเปิดและต้อหินมุมปิด ซึ่งไม่ว่าจะเป็นต้อหินมุมเปิดหรือ
มุมปิด มักจะมีความดันตาที่สูงขึ้นและเกิดการทำลายขั้วประสาทตาในที่สุด จากการสำรวจทั่วโลกพบว่า ในปี
ค.ศ. 2020 มีผู้ป่วยต้อหินจำนวน 79.6 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นถึง 111.8 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2040 โดยคาดว่า
เป็นผู้ป่วยต้อหินมุมปิดจำนวน 32.04 ล้านคน ถึงแม้ว่าความชุกของต้อหินมุมปิดจะน้อยกว่าต้อหินมุมเปิด
แต่กลับพบว่าต้อหินมุมปิดเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยต้อหินตาบอดมากกว่าต้อหินมุมเปิดถึงสามเท่า ร้อยละ 70
ของผู้ป่วยต้อหินมุมปิดปฐมภูมิสูญเสียการมองเห็นถึงขั้นตาบอดตั้งแต่แรกรับ สองในสามของผู้ป่วยต้อหิน
มุมปิดส่วนใหญ่เป็นชนิดเรื้อรัง จากการศึกษาพบว่าความชุกของต้อหินมุมปิดแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มประเทศ
สำหรับประเทศไทยพบความชุกต้อหินมุมปิดปฐมภูมิเท่ากับร้อยละ 0.9 ในประชากรอายุ 50 ปีขึ้นไป
ปัจจัยเสี่ยงของต้อหินมุมปิดปฐมภูมิ ได้แก่ อายุมาก เพศหญิง มีประวัติมุมตาปิดในครอบครัว สายตายาว และ
เชื้อชาติ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านโครงสร้างของลูกตา ได้แก่ ลักษณะลูกตาสั้น ช่องหน้าม่านตาแคบ
ความโค้งกระจกตาสูง ม่านตาหนา เลนส์แก้วตาหนาหรือมีความโค้งของผิวเลนส์สูง
แนวทางการรักษาในกลุ่มต้อหินมุมปิดปฐมภูมิประกอบด้วย การลดความดันตาเริ่มต้นให้ได้มากที่สุด
การเปิดมุมตาเพื่อลดการมี Iridotrabecular contact ให้ได้มากที่สุด การป้องกันการเกิดมุมตาปิดซ้ำ และ
การควบคุมความดันตาที่สูงให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย โดยแนวทางการรักษาทำได้โดยการใช้ยา เลเซอร์และ
การผ่าตัด ในปัจจุบันการผ่าตัดต้อกระจกด้วยวิธีสลายต้อกระจก (phacoemulsification) และใส่เลนส์เทียม
ถือเป็นมาตรฐานสำหรับการผ่าตัดต้อกระจกในปัจจุบันที่ใช้เวลาในการผ่าตัดไม่นาน แม้ว่าอาจจะมี
ภาวะแทรกซ้อนบ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นการผ่าตัดที่มีความปลอดภัยสูงและมีผลสำเร็จมาก ผู้ป่วยต้อหินจำนวนมาก
ก็ต้องได้รับการผ่าตัดต้อกระจกเช่นกัน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นอกจากการมองเห็นที่ชัดขึ้นแล้ว ยังมีการลดลงของ
ความดันตาหลังการผ่าตัด ซึ่งเป็นผลดีต่อการควบคุมโรคต้อหิน
โรงพยาบาลพนัสนิคม เป็นโรงพยาบาลทั่วไประดับตติยภูมิ มีผู้ป่วยโรคต้อหินที่รับการรักษาอยู่
ทั้งในอำเภอพนัสนิคมและอำเภอใกล้เคียง ได้แก่ เกาะจันทร์ บ่อทอง บ้านบึง พานทองและหนองใหญ่
เป็นจำนวนมาก ข้อมูลผู้ป่วยโรคต้อหินในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2561-2565) เป็นจำนวน 826, 996, 1060,
997 และ 1,029 คน ตามลำดับ โดยเฉลี่ยปีละ 982 ราย และพบว่าเป็นต้อหินมุมปิดร้อยละ 25.4 ดังนั้น จึงมี
การศึกษาผลการผ่าตัดต้อกระจกในโรคต้อหินมุมปิดปฐมภูมิในเรื่องความดันตา ระดับการมองเห็น จำนวน
ยาต้อหินที่ใช้หลังผ่าตัด และ ocular biometric parameters ที่ส่งผลถึงความดันตาที่เปลี่ยนแปลงหลังผ่าตัด
เพื่อนำปัจจัยดังกล่าวมาใช้ในการวางแผนการรักษาผู้ป่วยต้อหินมุมปิดปฐมภูมิต่อไป