Page 359 - Best practice_Oral2024 (อัพเดต)
P. 359
J17
การพัฒนาระบบการคัดกรองและส่งต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานขึ้นจอตา :
การวิจัยในโรงพยาบาลอุดรธานีและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนสูง
อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
นางภาวนา ดาวงศ์ศรี นางขวัญใจ สร้างแก้ว โรงพยาบาลอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี และ
นางผาณิต คำหารพล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนสูง จังหวัดอุดรธานี
เขตสุขภาพที่ 8
ประเภท วิชาการ
ความสำคัญของปัญหาวิจัย
ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา เป็นภาวะแทรกซ้อนทางตาที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยเบาหวาน และเป็นสาเหตุ
สำคัญของการสูญเสียการมองเห็นและตาบอด ในระยะแรกการดำเนินของโรคจะเกิดอย่างช้า ๆ ไม่มีอาการเตือน
ทำให้ผู้ป่วยไม่ทันรู้ตัวจึงไม่มาพบแพทย์ ปล่อยให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดสูง ภาวะเบาหวานจึงขึ้นจอตารุนแรง
และทำให้ตาบอดในที่สุด อุบัติการณ์ของเบาหวานขึ้นจอตาในผู้ป่วยเบาหวานมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
ตามระยะเวลาการเป็นเบาหวานและตามอายุของผู้ป่วย โดยพบว่าภายใน 20 ปี ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1
มีภาวะเบาหวานขึ้นจอตาประมาณ 99% และเบาหวานชนิดที่ 2 มีภาวะเบาหวานขึ้นจอตาประมาณ 60%
การคัดกรองเบาหวานขึ้นจอตาจะช่วยค้นพบผู้ป่วยได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ และทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้เร็ว
สามารถลดปัญหาตาบอดได้ จากรายงานการเข้าถึงบริการและการคัดกรองโรคเบาหวานของเขตสุขภาพที่ 8
จังหวัดอุดรธานี ในระบบ HDC พ.ศ. 2564 - 2566 พบมีผู้ป่วยเบาหวาน 86,401 ราย, 94,284 ราย และ
92,358 ราย ได้รับการคัดกรองภาวะแทรกซ้อนทางตา 50,540 ราย, 50,834 ราย และ 59,211 ราย คิดเป็น
ร้อยละ 58.49, 53.92 และ 64.11 ตามลำดับ ซึ่งเกณฑ์เป้าหมายของตัวชี้วัดคุณภาพการให้บริการของ
เขตสุขภาพ (service plan) ด้านโรคตา ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 การคัดกรองที่ต่ำกว่าเกณฑ์เป้าหมาย
ซึ่งหมายถึงความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานขึ้นจอตาก็จะยังไม่ถูกค้นพบ ดังนั้นทีมสุขภาพ
จึงต้องมีองค์ความรู้ด้านการดูแลเป็นอย่างดี มีการเชื่อมโยงบริการ สร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน
ในการพัฒนาระบบบริการ เพื่อให้มีการตรวจคัดกรองภาวะเบาหวานขึ้นจอตาอย่างมีประสิทธิภาพ และรักษา
โรคเบาหวานขึ้นจอตาในช่วงเวลาที่เหมาะสม จึงจะสามารถลดอุบัติการณ์ของการเกิดภาวะตาบอด ตาพิการ
รายใหม่ได้ ปี พ.ศ. 2567 กลุ่มงานจักษุวิทยา โรงพยาบาลอุดรธานี ได้เข้าร่วมเป็นคณะทำงานในโครงการวิจัย
การขยายผลการใช้ระบบบูรณาการปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการตรวจคัดกรองภาวะเบาหวานขึ้นจอตา ร่วมกับ
กรมการแพทย์และโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ครอบคลุมการตรวจคัดกรองเพิ่มมากขึ้น ทำให้
ผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ลดอัตราการสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดจากโรคเบาหวานขึ้นจอตา
จากการทบทวนระบบการเชื่อมโยงการให้บริการและการใช้ปัญญาประดิษฐ์ระหว่างโรงพยาบาลอุดรธานี
และเครือข่ายบริการสุขภาพชุมชนในเขตอำเภอเมืองอุดรธานี ยังคงพบปัญหาการติดตั้งระบบ การเชื่อมต่อ
อุปกรณ์ เนื่องจากกล้องถ่ายภาพจอตาที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันของหน่วยงานเป็นเครื่องที่ถ่ายด้วยเลเซอร์ (Eidon)
และหลังจากการอ่านภาพจอตาด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) การอ่านทบทวนภาพจอตาโดยจักษุแพทย์ด้านจอตา
(teleretinal review system) ยังคงขาดระบบการติดตามสถานการณ์ส่งต่อของผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อไปรักษา
ได้ครบวงจร ขาดแนวปฏิบัติการสื่อสารระหว่างพยาบาลผู้ปฏิบัติที่ชัดเจน ดังนั้น ทีมผู้วิจัยจึงได้ร่วมกันพัฒนา
ระบบการคัดกรองและส่งต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานขึ้นจอตา โดยใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์จากโครงการ
ดังกล่าว โดยนำร่องการพัฒนาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนสูง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
ก่อนขยายผลการดำเนินการไปยังเครือข่ายบริการสุขภาพชุมชนในเขตอำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานีต่อไป