Page 608 - Best Practice Poster 2024 (อัพเดต)
P. 608
O22
วิธีการศึกษา : การศึกษาในครั้งนี้มีรูปแบบการศึกษาแบบวิจัยกึ่งทดลอง ( Quasi- Experiment Research)
แบบกลุ่มเดียววัดผลก่อนและหลัง (One group pre and post-test research design) ประยุกต์ใช้นวัตกรรม
เป็นระยะเวลา 3 เดือนตั้งแต่ เดือนพฤศจิกายน 2566 - มกราคม 2567 ใช้รูปแบบการคัดเข้าแบบจำเพาะ
เจาะจง (Purposive Sampling) โดยคัดเลือกอาสาสมัครเป็นผู้ป่วยระยะกลางจำนวน 10 รายที่ยินดีเข้าร่วม
การศึกษาการประยุกต์ใช้นวัตกรรม ซึ่งได้รับการตรวจประเมินว่ามีความบกพร่องเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและ
การทรงตัว โดยนวัตกรรมเสียง เหยียบ ย่าง สร้างสมดุล (NAKAE Sound Stand and Step Model1) โดย
หากผู้ป่วยสามารถลงน้ำหนักไปกดปุ่มจะมีเสียงตอบกลับว่า “พยายามลงน้ำหนักได้ดีมากค่ะ ลองพยายาม
ทำซ้ำอีกสักรอบนะคะ สู้ต่อไปค่ะ” เป็นการให้กำลังใจ อาสาสมัครทุกรายจะได้รับการประเมินเกี่ยวกับข้อมูล
สุขภาพและประเมินสมรรถนะจากนักกายภาพบำบัด ดังนี้ 1.ประเมินความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตร
ประจำวันด้วยแบบประเมิน Barthel Index คะแนนเต็ม 20 คะแนน 2.ประเมินความสามารถในการทรงตัว
ด้วยแบบประเมิน Berg Balance Scale คะแนนเต็ม 56 คะแนน ก่อนการฝึกทางกายภาพบำบัดและการ
ประยุกต์ใช้นวัตกรรม หลังจากนั้นอาสาสมัครจะได้รับการฝึกทางกายภาพบำบัด เป็นระยะเวลา 60 นาที ณ
แผนกกายภาพบำบัดโรงพยาบาลนาแก 1 ครั้ง/สัปดาห์ โดยแบ่งการฝึกออกเป็น การออกกำลังกายเพื่อ
เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ, การฝึกยืนและการเดินด้วยกายอุปกรณ์เป็นระยะเวลา 30 นาที และ
ประยุกต์ใช้นวัตกรรมเสียง เหยียบ ย่าง สร้างสมดุล (NAKAE Sound Stand and Step Model1) เพื่อกระตุ้น
การลงน้ำหนักและฝึกการทรงตัวเป็นระยะเวลา 30 นาที เป็นระยะเวลาทั้งหมด 3 เดือน เมื่อครบตาม
ระยะเวลาอาสาสมัครทุกรายจะได้รับการประเมินสมรรถนะซ้ำและทำการเปรียบเทียบผลก่อนหลังการ
ประยุกต์ใช้นวัตกรรม
การวิเคราะห์ข้อมูล: ผู้ศึกษาเก็บข้อมูลของอาสาสมัครแต่ละรายเป็นระยะเวลาทั้งหมด 3 เดือน โดยแบ่งการ
วิเคราะห์ข้อมูลออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้ ส่วนแรก คือ การวิเคราะห์ข้อมูลคุณลักษณะทั่วไปของอาสาสมัครส่วนที่
สองเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลสมรรถนะของผู้ป่วยประกอบด้วยแบบประเมินกิจวัตรประจำวัน Barthel Index
และแบบประเมินระดับความสามารถในการทรงตัว Berg Balance Scale วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติด้วย
โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS Version 29 วิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคลด้วยสถิติการแจกแจงความถี่ร้อยละและส่วน
เบี่ยงเบนมาตรฐานและวิเคราะห์เปรียบเทียบคะแนนแบบประเมินระดับประเมินกิจวัตรประจำวัน Barthel
Index และแบบประเมินความสามารถในการทรงตัว Berg Balance Scale ก่อนและหลังโดยใช้สถิติ
Dependent- T Test
ผลการศึกษา : อาสาสมัครประกอบด้วยผู้ป่วยระยะกลางทั้งหมด 10 ราย แบ่งออกเป็นเพศชาย 6 ราย เพศ
หญิง 4 ราย มีอายุเฉลี่ย 49.20 ± 14.26 ปีและมีระยะเวลาป่วยเฉลี่ย 2.50 ± 1.08 เดือน สามารถจำแนก
ตามการวินิจฉัยโรค ดังนี้ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 4 ราย , บาดเจ็บที่ศีรษะสมอง 3 ราย และไขสันหลัง
บาดเจ็บ 3 ราย โดยมีลักษณะอาการแสดง ร่างกายซีกขวาอ่อนแรง 3 ราย, ร่างกายซีกขวาอ่อนแรง 4 ราย ,
แขนและขาทั้งสองข้างอ่อนแรง 2 ราย และขาทั้งสองข้างอ่อนแรง 1 ราย ผลการวิเคราะห์ระดับคะแนนการ
ปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน Barthel Index ค่าเฉลี่ยก่อนการประยุกต์ใช้นวัตกรรมมีค่าเท่ากับ 3.90 ± 1.97
คะแนนและหลังประยุกต์ใช้นวัตกรรมมีค่าคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 11.10 ± 4.18 คะแนน ผลการวิเคราะห์
ความสามารถในการทรงตัว Berg Balance Scale พบว่าก่อนการประยุกต์ใช้นวัตกรรมมีค่าคะแนนเฉลี่ย
เท่ากับ 12.70 ± 6.45 คะแนน และค่าคะแนนเฉลี่ยหลังประยุกต์ใช้นวัตกรรมพบว่ามีค่าคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ
23.90 ± 8.61 คะแนน ผลการวิเคราะห์ค่าความแตกต่างทางสถิติด้วย Dependent T test พบว่า อาสาสมัคร
มีความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันและความสามารถในการทรงตัวเพิ่มขึ้นก่อนการประยุกต์ใช้
นวัตกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ p value < 0.001