Page 402 - Best practice_Oral2024 (อัพเดต)
P. 402
K35
การศึกษาผลของข้าว กข.43 ปลอดสารพิษ เปรียบเทียบกับข้าวหอมมะลิ ต่อการเพิ่มระดับน้ำตาล
ในเลือดหลังรับประทาน ในผู้ป่วยเบาหวาน อำเภอภักดีชุมพล จังหวัดชัยภูมิ
นายแพทย์วิชิต รุ่งพุทธิกุล
โรงพยาบาลภักดีชุมพล จังหวัดชัยภูมิ เขตสุขภาพที่ 9
ประเภทผลงานวิชาการ
ความสำคัญของปัญหาวิจัย
ปัจจุบันมีผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลก 537 ล้านคนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โรคเบาหวาน
มีส่วนทำให้เสียชีวิต สูงถึง 6.7 ล้านคนหรือเสียชีวิต 1 รายในทุกๆ 5 วินาที ในประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวาน
3.3 ล้านคน มีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคเบาหวาน 16,388 คน (อัตราตาย 25.1 ต่อประชากรแสนคน) ค่าใช้จ่าย
ด้านสาธารณสุขในการรักษาโรคเบาหวานสูงถึง 47,596 ล้านบาทต่อปี ข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย
เป็นอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยสลายกลายเป็นน้ำตาล เป็นแหล่งพลังงานหลักที่ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ต้องควบคุมการรับประทาน ข้าว กข.43 เป็นสายพันธุ์ข้าวขาว ที่มีดัชนีน้ำตาลระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ
ช่วยให้ร่างกายอิ่มนาน โดยไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูง เป็นข้าวที่น่าจะเหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ที่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน
วัตถุประสงค์การศึกษา
เพื่อศึกษาระดับน้ำตาลในเลือดที่เพิ่มขึ้นหลังรับประทานอาหาร เปรียบเทียบระหว่างข้าวต้ม กข.43
ปลอดสารพิษ กับข้าวต้มหอมมะลิ ในผู้ป่วยเบาหวาน อำเภอภักดีชุมพล จังหวัดชัยภูมิ
วิธีการศึกษา
การศึกษาวิจัยนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง Quasi Experimental Crossover Research Design
กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยโรคเบาหวานที่รักษารับยาที่ รพ.สต. ในเขตอำเภอภักดีชุมพล จังหวัดชัยภูมิ คำนวณ
ขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้สูตรของ Tarro Yamane ใช้การสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม (Cluster Sampling)
ได้กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยเบาหวานจาก รพ.สต. ในเขตอำเภอภักดีชุมพล 3 แห่ง จำนวนรวม 122 คน วิธีดำเนินงาน
กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยเบาหวานในแต่ละ รพ.สต. แบ่งเป็น 2 กลุ่มโดยการสุ่ม เป็นกลุ่มสีเขียวและกลุ่มสีเหลือง
ทั้งสองกลุ่มงดน้ำและอาหาร มาตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารเช้า (FBS) หลังเจาะเลือด FBS
กลุ่มสีเขียวจะได้รับข้าวต้ม กข.43 ปลอดสารพิษ คนละ 1 ชาม กลุ่มสีเหลืองได้รับข้าวต้มหอมมะลิ
คนละ 1 ชาม ทั้ง 2 กลุ่มได้รับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานข้าวต้ม 2 ชม.
(2 Hour Postprandial Glucose) หลังจากนั้นอีก 3 เดือน ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มในทุก รพ.สต. มาตรวจติดตาม
ครั้งที่สอง งดน้ำและอาหารมาตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารเช้า (FBS) และได้รับข้าวต้ม กข.43
ปลอดสารพิษ กับข้าวต้มหอมมะลิ สลับกันกับครั้งแรก (Crossover) โดยกลุ่มสีเขียวจะได้รับข้าวต้มหอมมะลิ
คนละ 1 ชาม กลุ่มสีเหลืองได้รับข้าวต้ม กข.43 ปลอดสารพิษ คนละ 1 ชาม ทั้ง 2 กลุ่มได้รับการตรวจระดับ
น้ำตาลในเลือดหลังรับประทานข้าวต้ม 2 ชม. (2 Hour Postprandial Glucose) ทำการเก็บรวบรวม
ข้อมูลกลุ่มตัวอย่างทั้ง 3 รพ.สต. วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปกลุ่มตัวอย่าง โดยสถิติเชิงพรรณนาการแจกแจง
ความถี่และร้อยละ วิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบค่าระดับน้ำตาล (FBS) ระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทาน
ข้าวต้ม 2 ชม. (2 Hour Postprandial Glucose) เปรียบเทียบระหว่าง ข้าวต้ม กข.43 ปลอดสารพิษ
กับข้าวต้มหอมมะลิ โดยใช้สถิติอนุมาน Paired – Samples T test