Page 424 - Best practice_Oral2024 (อัพเดต)
P. 424
L1
ผลของโปรแกรมส่งเสริมการกลืนในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะกลาง ที่มีภาวะกลืนลำบาก
โดยให้ญาติมีส่วนร่วม โรงพยาบาลเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม
นางสาวภัสราภรณ์ จวบบุญ และนางณัชวกร เกตุสิริ
โรงพยาบาลเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม เขตสุขภาพที่ 7
ประเภท วิชาการ
ความสำคัญของปัญหาวิจัย
องค์การอัมพาตโลก พบว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของโลกผู้ป่วยโรคหลอดเลือด
สมองมีแนวโน้มสูงมากขั้น เห็นได้จากอุบัติการณ์ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองปี 2560 คือ 278.49 ต่อแสนประชากร
สูงขึ้นเป็น 330.72 ต่อแสนประชากรในปี 2565 โรคหลอดเลือดสมองเป็นภาวะที่สมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง
ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองตีบ ตัน หรือแตก ส่งผลให้เซลล์สมองตายในที่สุด ทำให้ผู้ป่วยมีความบกพร่อง
ทางด้านร่างกาย มีความผิดปกติของการเคลื่อนไหว การควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติ โดยเฉพาะ
ปัญหาเกี่ยวกับการเคี้ยว และการกลืนลำบาก
ภาวะกลืนลำบาก (Dysphagia) เป็นภาวะที่พบร่วมกับโรค หลอดเลือดสมองได้มากถึงร้อยละ 37-78
เป็นความผิดปกติในการกลืนอาหาร เกิดจากการทำลายศูนย์ควบคุมการกลืนของประสาทสมองส่วนที่ควบคุม
กล้ามเนื้อลายของคอ และหลอดอาหารส่วนบนมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อในการเคี้ยวและกลืน จากความ
ผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5, 7, 9, 10 และ 12 ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถปิดปากได้สนิทขณะเคี้ยว
อาหาร รวมทั้งไม่สามารถผลักอาหารเข้าสู่หลอดอาหารได้
ภาวะแทรกซ้อนอันเกิดจากภาวะกลืนลำบากในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ ภาวะขาดน้ำ ภาวะ
ขาดอาหาร และที่สำคัญคือการสำลักอาหาร พบมากถึงร้อยละ 40-70 ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มี
ปัญหากลืนลำบาก และยังพบว่าร้อยละ 37 ของผู้ป่วยที่สำลักมีภาวะปอดอักเสบ การป้องกันภาวะปอดอักเสบ
จากการสำลักที่ดี คือการดูแลจัดการภาวะกลืนลำบากที่ดี นอกจากนี้ญาติหรือผู้ดูแลยังมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง
ในการฟื้นฟูสภาพของผู้ป่วย ดังนั้น ความรู้เกี่ยวกับภาวะกลืนลำบากเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วย
ปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
โรงพยาบาลเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดกลาง ไม่มีนักกิจกรรมบำบัดที่
ฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการกลืนโดยตรง โดยปัญหาของผู้ป่วย เช่น การกลืน การสื่อสาร พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง พูดกับ
ญาติไม่รู้เรื่อง ถือว่ามีความสำคัญ ที่อาจทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวช้า และอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ จากทะเบียน
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะกลาง ปี 2565 ผู้ป่วยมีภาวะกลืนลำบาก สำลัก พูดไม่ชัด ร้อยละ 61.54 ที่ผ่านมา
การให้ความรู้ด้านภาวะกลืนลำบากยังไม่มีรูปแบบการให้ข้อมูลความรู้และสื่อการสอนที่เป็นรูปแบบชัดเจน
กระบวนการเตรียมความพร้อมก่อนกลับบ้านและติดตามหลังจากกลับบ้านแล้ว ส่วนใหญ่เน้นเรื่องของการรักษา
และการใช้ยา อีกทั้งยังไม่มีการศึกษาเฉพาะในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีภาวะกลืนลำบาก
การนวดแผนไทยสายราชสำนักถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อใบหน้า
และควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้าได้มากขึ้น กระตุ้นต่อระบบกล้ามเนื้อ ระบบไหลเวียนเลือดและระบบประสาท
ลดความตึงหรือการเกร็งของกล้ามเนื้อ (ปานียา ณัฐชนาวรเดช) อีกทั้งการบริหารกล้ามเนื้อบริเวณรอบปาก
และในปากมีการเคลื่อนไหว ซึ่งจะช่วยให้เกิดการกระตุ้นการกลืนอย่างปลอดภัย ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้ จึงมี
วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมส่งเสริมการกลืนในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะกลาง ที่มีภาวะกลืน
ลำบากโดยให้ญาติมีส่วนร่วม เนื่องจากเป็นผู้ดูแลใกล้ชิดและเป็นการสร้างกำลังใจให้กับผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม
หากผู้ป่วยได้รับการฟื้นฟูสภาพตั้งแต่ระยะเฉียบพลันอย่างถูกต้องและเหมาะสมอาจทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยขณะ