Page 420 - Best practice_Oral2024 (อัพเดต)
P. 420
K53
ประสิทธิผลของการใช้ Blood System Model ต่อความรู้ความเข้าใจและ
พฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและญาติ โรงพยาบาลยะลา
นางสาวรูนีดาร์ กาเซ็ง
โรงพยาบาลยะลา จังหวัดยะลา เขตสุขภาพที่ 12
ประเภท ผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์
ความสำคัญของปัญหาวิจัย
โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการ
รับประทานอาหารรสจัด อาหารที่มีไขมันสูง อาหารปิ้งย่าง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่
การไม่ออกกำลังกาย การนอนดึก การมีความเครียดสูง การรับประทานยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เป็นต้น
โรคในกลุ่มนี้จะมีการดำเนินโรคอย่างช้าๆ ค่อยๆ สะสมอาการทีละนิดโดยผู้ป่วยไม่รู้ตัว หากไม่ได้รับการตรวจ
สุขภาพเป็นประจำก็มักจะไม่ทราบและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันเวลา จนโรคค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้น
และกลายเป็นอาการเรื้อรังในที่สุด จนถึงภาวะอันตรายและส่งผลกระทบต่อชีวิตและมีภาวะเสี่ยงที่จะเกิด
โรคหลอดเลือดสมองอีกด้วย จากรายงานสถิติสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขในปี 2566 ประเทศไทยพบ
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมากถึง 349,126 ราย เสียชีวิต 36,214 ราย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีอายุน้อยกว่า 70
ปี และจากรายงานสถิติของสำนักโรคไม่ติดต่อกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2564 - 2566
จังหวัดยะลา มีอัตราผู้ป่วยในของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมากที่สุดเมื่อเทียบกับจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส
ในปัจจุบันโรงพยาบาลยะลาเป็นโรงพยาบาล 500 เตียง มีผู้ป่วยที่มานอนพักรักษาที่ Stroke unit
เท่ากับ 1,245 , 1199 , 1397 ตามลำดับ ไม่เพียงแต่อัตราป่วยเท่านั้นที่เพิ่มขึ้น จากรายงานพบว่าจังหวัดยะลา
มีอัตราการตายของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมากที่สุด โดยในปี 2566 พบผู้ป่วยที่เสียชีวิต 63 คน
คิดเป็นร้อยละ 4.72 (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา ; 2566)
การป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนสำหรับผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นกิจกรรมพื้นฐาน
ที่มีความจำเป็น ต้องทำในผู้ป่วยโรคหลอดในระยะต้นเกือบทุกราย ทั้งนี้ประสิทธิภาพของการดูแลผู้ป่วยใน
ด้านนี้มีผลสำคัญต่อผลการฟื้นฟูสภาพในระยะยาว แต่รูปแบบการให้สุขศึกษา ณ ปัจจุบัน ได้แก่ การให้ความรู้
แบบทางเดียว (One way) การแจกเอกสารแผ่นพับ , บอร์ดให้ความรู้ เป็นต้น ยังมีข้อจำกัดในด้านการสร้าง
ความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจนให้กับผู้รับการสอน อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการถ่ายทอดความรู้ที่ไม่ครบและไม่เหมือนกัน
ทุกครั้งที่ทำการสอนอีกด้วย จากการประเมินความรู้ความเข้าใจของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มารับการรักษา
ที่โรงพยาบาลยะลา พบว่าผู้ป่วยและญาติมีความความรู้เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีคะแนนอยู่ในระดับสูงสุด
เพียงร้อยละ 23.33 และมีพฤติกรรมสุขภาพที่อยู่ระดับดี เพียงร้อยละ 10.00 งานสุขศึกษาจึงมีแนวคิด
ที่จะพัฒนานวัตกรรมที่สามารถใช้ในการถ่ายทอดความรู้ได้อย่างชัดเจน เห็นเป็นรูปธรรม โดยการใช้นวัตกรรม
“Blood System Model” เป็นสื่อสุขศึกษาเกี่ยวกับระบบการไหลเวียนของเลือด เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติ
มีความรู้ ความเข้าใจและมีความตระหนักถึงอันตรายของภาวะความผิดปกติของการไหลเวียนเลือด เช่น
เส้นเลือดอุดตัน ตีบและแตก ซึ่งภาวะเหล่านี้ส่งผลอันตรายแก่ชีวิตได้
วัตถุประสงค์การศึกษา
1. เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการใช้ Blood System Model ต่อความรู้ความเข้าใจและพฤติกรรมสุขภาพ
ของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและญาติ โรงพยาบาลยะลา