Page 573 - Best practice_Oral2024 (อัพเดต)
P. 573
P4
การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยผ่าตัดแบบวันเดียวกลับแบบบูรณาการ
โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ (บริการด้วยใจ ผ่าตัดปลอดภัยด้วย S-CARE Model)
นางสาวจีณะ สิงหนาท
โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ เขตสุขภาพที่ 3
ประเภท นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์
ความสำคัญของปัญหา
ในปัจจุบันการรักษาโรคที่ต้องใช้การผ่าตัดมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
จึงได้พัฒนาระบบบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับและการผ่าตัดแผลเล็กขึ้นตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน
และได้ขยายขอบเขตการดำเนินงานให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบบริการ
ให้ประชาชนได้รับการบริการที่ปลอดภัยและมีคุณภาพมาตรฐาน
โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ได้ตอบสนองนโยบายดังกล่าวในด้านการให้บริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ
และการผ่าตัดแผลเล็ก แต่ก็ประสบปัญหาที่ส่งผลไปยังผู้ป่วย คือ ผู้ป่วยมีอัตราการนอนโรงพยาบาล
โดยไม่จำเป็น การค้นพบภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับผู้ป่วยค่อนข้างช้า มีภาวะแทรกซ้อนในระดับรุนแรง
ไม่มีช่องทางติดต่อและผู้ให้คำปรึกษาสำหรับผู้ป่วยที่ชัดเจน จึงได้มีการก่อตั้งศูนย์ประสานงานการผ่าตัด
แบบวันเดียวกลับและการผ่าตัดแผลเล็กขึ้น เพื่อให้บริการผู้ป่วยผ่าตัดแบบวันเดียวกลับและการผ่าตัดแผลเล็ก
ประกอบด้วย ศัลยกรรมทั่วไป ศัลยกรรมตกแต่ง ศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ ศัลยกรรมกุมาร ศัลยกรรม
กระดูก ศูนย์ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ สูติ-นรีเวช โสต ศอ นาสิก จักษุ และไตเทียม มีผู้เข้ารับบริการในปีงบประมาณ
พ.ศ. 2566 ทั้งสิ้น 4,591 ราย โดยได้นำแนวคิด S-CARE Model ซึ่งเป็นรูปแบบการดูแลผู้ป่วยผ่าตัดแบบ
วันเดียวกลับแบบบูรณาการที่คิดค้นขึ้นมาใช้ในการให้บริการแก่ผู้ป่วย เพื่อแก้ไขปัญหาการนอนโรงพยาบาล
โดยไม่จำเป็น การลดภาวะแทรกซ้อนในระดับรุนแรงและเพิ่มช่องทางติดต่อให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการ
วัตถุประสงค์การศึกษา
เพื่อพัฒนาและประเมินผลรูปแบบการดูแลผู้ป่วยผ่าตัดแบบวันเดียวกลับแบบบูรณาการ โรงพยาบาล
สวรรค์ประชารักษ์ (บริการด้วยใจ ผ่าตัดปลอดภัยด้วย S-CARE Model)
วิธีการศึกษา
การศึกษาเรื่อง “การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยผ่าตัดแบบวันเดียวกลับแบบบูรณาการ
โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ (บริการด้วยใจ ผ่าตัดปลอดภัยด้วย S-CARE Model)” เป็นการวิจัยเชิงพัฒนา
(Developmental Study) เพื่อพัฒนาและประเมินผลรูปแบบการดูแลผู้ป่วยผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ
แบบบูรณาการโดยใช้ S-CARE Model ซึ่งนำวงจรการพัฒนาคุณภาพของเดมมิง (Deming Cycle) เข้ามา
กำหนดระยะของการพัฒนา แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 เน้นวางแผนงาน (Plan) โดยศึกษา
สภาพปัญหาและกำหนดรูปแบบการดูแลผู้ป่วยแบบ S-CARE Model ระยะที่ 2 เน้นปฏิบัติงาน (Do) โดยนำ
รูปแบบที่พัฒนาไปใช้กับผู้เข้ารับบริการ ระยะที่ 3 เน้นคุณภาพงาน (Check) โดยการตรวจสอบคุณภาพ
ของการให้บริการจากความพึงพอใจของผู้เข้ารับบริการ ระยะที่ 4 เน้นพัฒนางาน (Act) โดยนำผลจาก
การตรวจสอบคุณภาพมาพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง กำหนดกลุ่มตัวอย่างโดยการสุ่มอย่างง่าย
จำนวน 367 ราย เป็นผู้ป่วยที่เข้ารับบริการของศูนย์ประสานงานการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับและการผ่าตัด
แผลเล็กโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2565 - 30 กันยายน 2566 เครื่องมือวิจัย
ได้แก่ แบบบันทึกการพยาบาลผู้ป่วย แบบประเมินการติดตามผู้ป่วยหลังผ่าตัด และแบบประเมินความพึงพอใจ
วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนา ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน