Page 576 - Best practice_Oral2024 (อัพเดต)
P. 576
P7
OPD on Demand การเข้าถึงบริการเฉพาะทางรูปแบบใหม่
นางจีระภา บัววารี และนางสาวบัวชมพู ธนบัตร
โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร เขตสุขภาพที่ 11
ประเภท วิชาการ
ความสำคัญของปัญหา
โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดชุมพรและ
ระนอง การให้บริการผู้ป่วยนอกศัลยกรรมประสาทพบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้พิการ บางรายเป็นผู้ป่วยติดเตียง
หายใจด้วยท่อเจาะคอ ต้องใช้ถังออกซิเจนทำให้เคลื่อนย้ายลำบาก ต้องเดินทางจากต่างอำเภอหรือต่างจังหวัด
ที่ห่างไกลนับร้อยกิโลเมตร เพื่อมาพบประสาทศัลยแพทย์ที่โรงพยาบาลชุมพรฯ การทำ Rapid assessment
พบปัญหาคือผู้ป่วยต้องออกจากบ้านแต่เช้ามืดและได้กลับบ้านตอนบ่ายทำให้เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายในการ
เดินทางเฉลี่ยรายละ 1,500 บาท และผู้รับบริการมีความพึงพอใจต่ำ
วัตถุประสงค์การศึกษา
เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการนี้อย่างน้อย 100 ราย และไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ค่าใช้จ่าย
ลดลงและมีความพึงพอใจมากกว่าร้อยละ 90 ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566
วิธีการศึกษา
เป็นการศึกษาวิจัยแบบ Research and development (R&D) โดยทำการศึกษาวิจัยและพัฒนา
ระบบ ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2565 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 เก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างและวิเคราะห์
ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาด้วยร้อยละและสถิติเชิงอนุมานด้วย Student t-test
วิธีการดำเนินการศึกษา
(โดยใช้หลักการ PDSA) : โดยการคัดเลือกผู้ป่วยที่มีอาการคงที่และบ้านอยู่ห่างไกลและมี
ความประสงค์เข้าร่วมโครงการ (informed and consent) โดยดำเนินการศึกษาพัฒนาดังนี้
1) ปี 2565 (มกราคม - มิถุนายน) เริ่มโครงการ “OPD anywhere” ผู้เข้าร่วมโครงการไม่ต้องเดินทาง
มาโรงพยาบาลชุมพรฯ แต่ให้ไปโรงพยาบาลชุมชนไกล้บ้านและได้รับการตรวจรักษาโดย ประสาทศัลยแพทย์
แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ผ่านทางระบบ Zoom และส่งยาทางไปรษณีย์ ผลการประเมินพบว่าผู้รับบริการไม่พึง
พอใจเนื่องจากระบบในโรงพยาบาลชุมชนมีความล่าช้าและยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
2) ปี 2565 (กรกฎาคม - ธันวาคม) จึงปรับโครงการเป็น “OPD at Home” ผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการ
ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลและได้รับการตรวจรักษาโดยประสาทศัลยแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เภสัชกร
พยาบาลและสหสาขาวิชาชีพผ่านทางระบบ Zoom และส่งยาทางไปรษณีย์ ผลการประเมินพบว่าผู้รับบริการ
มีความพึงพอใจสูงมากและไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แต่พบปัญหาคือผู้ป่วยจะได้พบแพทย์เฉพาะทางได้ตาม
วันนัดเท่านั้น บางกรณีผู้ป่วยอาจขาดยาหรือต้องการปรึกษาต่าง ๆ ก็ต้องรอวันนัด
3) ปี 2566 (มกราคม- ธันวาคม) ได้ปรับโครงการเป็น “OPD on Demand” ผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการ
ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลและได้รับการตรวจรักษาโดยทีมแพทย์เฉพาะทางและสหสาขาวิชาชีพผ่านทาง
ระบบ Zoom ตามความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัวโดยไม่ต้องรอวันนัดตามปกติ และส่งยาทางไปรษณีย์
4) วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติและนำไปปรับปรุงกระบวนการเพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีกว่าเดิมด้วย PDSA cycle