Page 720 - Best practice_Oral2024 (อัพเดต)
P. 720
T7
การพัฒนาระบบการดูแลและป้องกันภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ
แบบบูรณาการ ครบวงจร ไร้รอยต่อ
แพทย์หญิงนิศาชล ทองคำ, แพทย์หญิงชิสรา บำรุงวงศ์ ,นายแพทย์กฤติน รักชาติ,
แพทย์หญิงทับทิม จงสู่วิวัฒน์วงศ์, รำภาภรณ์ หอมตีบ และสายใจ สุขทาน
โรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เขตสุขภาพที่ 12
ประเภท วิชาการ
ความสำคัญของปัญหา
ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) หรือการรู้คิดบกพร่อง (Cognitive impairment) เป็นกลุ่มอาการหนึ่ง
ในผู้สูงอายุที่พบได้บ่อย จากข้อมูลสถิติผู้สูงอายุของประเทศไทยปี พ.ศ.2563 พบว่าภาวะสมองเสื่อมเป็นสาเหตุ
การตายอันดับ 5 ของสาเหตุการตายในกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ภาวะสมองเสื่อมเป็นกลุ่มอาการที่มี
การสูญเสียหน้าที่การทำงานของสมองส่งผลให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อโรคหรือปัญหาต่างๆ เช่น ภาวะทุพโภชนาการ
ภาวะเปราะบาง (Frailty) และนอนโรงพยาบาลจากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะหรือทางเดินหายใจมากกว่า
ผู้สูงอายุทั่วไป 2-3 เท่า นอกจากนี้ยังอาจเกิดปัญหาความขัดแย้งและส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ดูแลจนเกิด
เป็นความเครียดของผู้ดูแลและครอบครัวได้ ภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุจึงเป็นปัญหาสุขภาพที่ส่งผลกระทบ
ด้านลบต่อญาติ ผู้ดูแล ครอบครัว ชุมชน สังคม เศรษฐกิจและปัญหานี้จะเพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น
อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ภาวะการรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย (Mild cognitive impairment) คือการที่มีระดับการถดถอยของ
สมรรถภาพสมองมากกว่าการเปลี่ยนแปลงตามอายุในคนปกติ เช่นความจำระยะสั้นลดลง แต่ยังไม่ส่งผล
กระทบต่อการประกอบอาชีพหรือการดำเนินกิจวัตรประจำวัน พบว่ามีโอกาสพัฒนาไปเป็นโรคสมองเสื่อม
ชนิดอัลไซเมอร์ ร้อยละ 10 – 15 ในช่วงเวลา 1 ปี
ปัจจุบันยังไม่พบวิธีการรักษาภาวะสมองเสื่อมให้หายขาดได้ มีเพียงแค่การให้ยาเพื่อชะลออาการเสื่อม
ของสมองในระดับเล็กน้อยและระดับปานกลางไม่ให้เข้าสู่ภาวะสมองเสื่อมระดับรุนแรงและเพื่อยืดระยะเวลาให้
ผู้ที่อยู่ในภาวะสมองเสื่อมสามารถช่วยเหลือตนเองได้นานที่สุดเท่านั้น ซึ่งหลักการดูแลภาวะสมองเสื่อม
มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้อย่างอิสระได้นานที่สุดตามศักยภาพของผู้ป่วยและมีคุณภาพ
ชีวิตที่ดี จากการศึกษาพบว่าการรักษาภาวะสมองเสื่อมด้วยการผสมผสานการรักษาทั้งแบบใช้ยาและแบบไม่ใช้ยา
(กิจกรรมพัฒนาศักยภาพสมอง) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยได้ดีกว่า
การรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว
ปัจจุบันอำเภอหาดใหญ่มีผู้สูงอายุจำนวน 59,300 คน จากผลการคัดกรองปัญหาสุขภาพ 9 ด้าน
ในผู้สูงอายุ ปี 2566 ผู้สูงอายุได้รับการคัดกรองภาวะสมองเสื่อมจำนวน 11,945 คน พบผู้สูงอายุมีการรู้คิด
บกพร่องจำนวน 183 คน คิดเป็นร้อยละ 1.53 ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพอันดับ 5 รองจากปัญหาการมองเห็น
ปัญหาการประกอบกิจวัตรประจำวัน ปัญหาช่องปากและการเคลื่อนไหว ซึ่งทั้ง 4 ปัญหาสุขภาพแรกมีแนวทาง
การดูแลรักษาแล้ว แต่ปัญหาการรู้คิดบกพร่องยังไม่มีระบบการดูแลรักษาส่งต่อ ยังเป็นการดูแลแบบแยกส่วนกัน
ระหว่างแผนกในโรงพยาบาล ไม่มีการเชื่อมประสานกับเครือข่ายในชุมชนทั้งการส่งต่อผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยง
ภาวะสมองเสื่อมและการส่งต่อข้อมูลเพื่อการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมในชุมชน ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถเข้าถึง
บริการที่มีคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง
คณะดำเนินงานคลินิกชะลอรักษ์เห็นความสำคัญของปัญหาการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะการรู้คิด
บกพร่องนี้ จึงร่วมกันพัฒนาระบบการดูแลและป้องกันภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุแบบบูรณาการครบวงจร