Page 152 - Best Practice Poster 2024 (อัพเดต)
P. 152
C27
การพัฒนาแนวทางการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินในระยะก่อนถึงโรงพยาบาลของอาสาสมัครฉุกเฉิน
การแพทย์และพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู
นายราชวัช ทวีคูณ, นางสมจินตนา สมณะ และสมจิตร ศรีดาหลง พร้อมคณะวิจัย
โรงพยาบาลศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู เขตสุขภาพที่ 8
ประเภท วิชาการ
ความสำคัญของปัญหาวิจัย
การเจ็บป่วยด้วยภาวะฉุกเฉิน (Emergency illness) เป็นการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน มีความ
เสี่ยงรุนแรงต่อการเสียชีวิตและเกิดความพิการระยะยาวหากไม่ได้รับการช่วยเหลือและรักษาภาวะฉุกเฉิน
ที่ถูกต้อง เหมาะสมและรวดเร็วพร้อมกับนำส่งต่อระบบบริการขั้นสูงอย่างมีประสิทธิภาพ การส่งเสริมให้ผู้ป่วย
ฉุกเฉินสามารถเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินก่อนมาโรงพยาบาลที่มีมาตรฐาน จะสามารถลดอัตราการตาย
และภาวะแทรกซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงสาธารณสุขจึงพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินขึ้น
เพื่อแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการรักษาและเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลรักษาในระยะก่อนถึงโรงพยาบาล ซึ่งการ
ดูแลรักษาที่ไม่เหมาะสมและล่าช้าอาจส่งผลกระทบให้การเจ็บป่วยมีความรุนแรงมากขึ้นจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้
โรงพยาบาลศรีบุญเรือง เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด F1 ดำเนินการเพื่อพัฒนาคุณภาพระบบ
การแพทย์ฉุกเฉินมาตั้งแต่พ.ศ.2551 มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและขยายหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน
ครอบคลุมทั้ง 12 ตำบล มีหน่วยปฏิบัติการระดับสูง จำนวน 1 หน่วย หน่วยปฏิบัติการระดับพื้นฐาน จำนวน
4 หน่วย หน่วยปฏิบัติการระดับเบื้องต้น จำนวน 8 หน่วยและมูลนิธิกู้ภัย จำนวน 1 หน่วย จากผลการออก
ปฏิบัติการในปี 2562 - 2565 พบว่า ผู้ป่วยฉุกเฉินสีแดงเข้ารับบริการด้วยระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน
ร้อยละ 24.1, 37.3, 15.1และ 13.1 ตามลำดับ ผู้ป่วยฉุกเฉินสีแดงที่นำส่งโดยอาสาสมัครฉุกเฉินการแพทย์และ
พนักงานฉุกเฉินการแพทย์ ร้อยละ 11.8, 18.6, 7.9 และ 7.4 ตามลำดับ จากการทบทวนอุบัติการณ์
ในปีงบประมาณ 2565 พบว่า มีผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล ซึ่งเป็นภาวะวิกฤตฉุกเฉินที่ต้องได้รับ
การช่วยฟื้นคืนชีพอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ในระยะก่อนถึงโรงพยาบาล จำนวน 43 ราย นำส่งโดยอาสาสมัคร
ฉุกเฉินการแพทย์และพนักงานฉุกเฉินการแพทย์และไม่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายจากหน่วยปฏิบัติการระดับสูง
จำนวน 7 ราย ซึ่งในจำนวนนี้พบว่าเสียชีวิตที่ห้องฉุกเฉิน จำนวน 6 ราย คิดเป็นร้อยละ 85.7 จากการทบทวน
พบว่าอาสาสมัครฉุกเฉินการแพทย์และพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ขาดความรู้ในการประเมินอาการ การคัดแยก
ประเภทผู้ป่วยและการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินในระยะก่อนถึงโรงพยาบาล ไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าถึง
การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นสูงที่ล่าช้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินในระยะก่อนถึงโรงพยาบาล
ทีมผู้วิจัยปฏิบัติงานที่ห้องฉุกเฉิน จึงพัฒนาแนวทางการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินในระยะก่อนถึงโรงพยาบาล
ของอาสาสมัครฉุกเฉินการแพทย์และพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู
วัตถุประสงค์
เพื่อประเมินความรู้เกี่ยวกับการประเมินอาการ การคัดแยก การดูแลผู้ป่วยและพัฒนาแนวทางการ
ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินในระยะก่อนถึงโรงพยาบาลของอาสาสมัครฉุกเฉินการแพทย์และพนักงานฉุกเฉินการแพทย์
อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู