Page 77 - Best practice_Oral2024 (อัพเดต)
P. 77
B7
การเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งผ่านระบบบริการ
Surin One-Stop Service ร่วมกับการใช้เทคโนโลยี Telemedicine สำหรับรักษาและปรึกษา
กับแพทย์เฉพาะทางโรคมะเร็งจากพื้นที่ห่างไกล (Enhancing Cancer Care through the
Surin One-Stop Service, Utilizing Telemedicine for Treatment and Consultations
with Oncologists from Rural Areas, S.O.S.+)
นายแพทย์เฉลิมชัย เลิศอนันต์สิทธิ์, พว.จีรนันทร์ พอกพูน, พว.ธิยา นุสายรัมย์,
ภก.ธีรัตต์ ทรัพย์โภค, นายแพทย์ชวลิต ชยางศุ
ศูนย์มะเร็งโรงพยาบาลสุรินทร์ เขตสุขภาพที่ 9
ประเภท วิชาการ
บทนำและความสำคัญ
ศูนย์มะเร็งโรงพยาบาลสุรินทร์ ได้เริ่มต้นระบบเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งภายในจังหวัดสุรินทร์ ผ่าน
ระบบบริการ Surin One-stop Service (S.O.S.) โดยเป้าหมายของระบบนี้เพื่อลดการเดินทางและค่าใช้จ่าย
ของผู้ป่วย ผู้ป่วยมะเร็งสามารถเริ่มการรักษาได้ทันทีด้วยการพบแพทย์เฉพาะทางในครั้งแรกที่มาโรงพยาบาล
สุรินทร์ ซึ่งผลการศึกษาภายในพบว่าระบบดังกล่าวสามารถลดจำนวนครั้งและค่าใช้จ่ายในการมาโรงพยาบาล
ของผู้ป่วยได้อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี มีผู้ป่วยบางส่วนยังต้องเดินทางมาโรงพยาบาลในเมืองหลายครั้งเพื่อ
รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ได้แก่ ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะต้น ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเสริมด้วยยา
เคมีบำบัดชนิดรับประทาน เคปไซตาบีน (capecitabine) โดยมาติดตามการรักษาและรับยาทุก 3 สัปดาห์
ทั้งหมด 8 รอบ ซึ่งการรักษานี้ผู้ป่วยต้องเดินทางมาโรงพยาบาลหลายครั้งและเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
จำนวนมาก ปัจจุบันได้มีการพัฒนาระบบแพทย์ทางไกล (telemedicine) เพิ่มมากขึ้นในกระทรวงสาธารณสุข
แต่พบว่าบทบาทของการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดผ่านระบบ telemedicine นั้นค่อนข้างยาก เนื่องจากลักษณะ
ของยาที่มีผลข้างเคียงมากและบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลอำเภอไม่คุ้นเคยกับยาเคมีบำบัด จึงมี
ความกลัวและความกังวลในการบริหารยาดังกล่าว
ศูนย์มะเร็งโรงพยาบาลสุรินทร์ จึงมีแนวคิดพัฒนาระบบที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วย
มะเร็งผ่านระบบบริการ Surin One-stop Service ที่มีอยู่เดิมร่วมกับการใช้เทคโนโลยี telemedicine สำหรับ
การให้การรักษาและให้คำปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางโรคมะเร็งจากพื้นที่ห่างไกล หรือเรียกว่า Surin One-
stop Service Plus (S.O.S.+) ด้วยการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะต้นด้วยยาเคมีบำบัดชนิดรับประทาน
capecitabine ร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลอำเภอ ซึ่งระบบ S.O.S.+ นี้ ไม่เพียงจะเป็น
ประโยชน์ทางตรงแก่ผู้ป่วยในการลดค่าใช้จ่ายการเดินทางมาพบแพทย์เฉพาะทาง ในทางอ้อมนั้นยังช่วย
เสริมสร้างความมั่นใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลอำเภอ ในการบริหารยาเคมีบำบัดชนิด
รับประทาน ช่วยยกระดับการรักษาโรคมะเร็งให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษามากขึ้น ตามหลักการ “หนึ่งแพทย์
โรคมะเร็ง หนึ่งจังหวัด และทุกอำเภอ”
วัตถุประสงค์ของการศึกษา
วัตถุประสงค์หลัก : เพื่อนำเสนอระบบการรักษาโรคมะเร็งด้วยยาเคมีบำบัดชนิดรับประทานผ่าน
ระบบ S.O.S.+ สำหรับผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล