Page 79 - Best practice_Oral2024 (อัพเดต)
P. 79
B9
ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 ระบบ Surin One-stop Service Plus (S.O.S.+) ได้เริ่มถูกนำมาใช้งาน
ในจังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วยทั้งหมด 6 ราย ได้ทำการนัดหมายและรักษาผ่านระบบ S.O.S.+ โดยการใช้งานของระบบ
ดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลัง เนื่องจากผู้ใช้งานเริ่มคุ้นเคย ผู้ป่วยทั้ง 6 ราย เป็นผู้ป่วยมะเร็งลำไส้
ใหญ่ระยะต้น ที่ต้องได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเสริม capecitabine จำนวนทั้งหมด 8 รอบ สิ่งสำคัญคือ
ผู้ป่วยสามารถลดการเดินทางจากอำเภอต่างๆเพื่อมาพบแพทย์เฉพาะทางโรคมะเร็งในเมืองได้ถึง 8 ครั้ง ซึ่งเป็น
การลดลงที่สำคัญและยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง จากข้อมูลศูนย์มะเร็งโรงพยาบาลสุรินทร์ในปี พ.ศ. 2564
ผู้ป่วยโรคมะเร็งจำนวน 413 ราย มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการมาพบแพทย์ในเมืองเท่ากับ 2,198 บาทต่อครั้ง นั่น
หมายความว่าผู้ป่วย 11 รายสามารถลดค่าใช้จ่ายได้รวมเฉลี่ย 20,000 บาทต่อราย
หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาผ่านระบบ S.O.S.+ ศูนย์มะเร็งได้ดำเนินการสำรวจความพึงพอใจของ
ผู้ป่วยต่อระบบและความมั่นใจของบุคลากรทางการแพทย์ในการให้ยาเคมีบำบัด พบว่าผู้ป่วยทุกคน
มีความพึงพอใจสูงต่อการรักษาที่ได้รับ และความมั่นใจของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลอำเภอในการ
รักษาผู้ป่วยด้วยยาเคมีบำบัดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (ตารางที่ 1)
ตารางที่ 1 ผลการประเมินจากการรักษาผู้ป่วยผ่านระบบ S.O.S.+
ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเดินทางมาโรงพยาบาลสุรินทร์ (บาท/ครั้ง) 1,067
ค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งที่ลดลงในการเดินทางมาโรงพยาบาลสุรินทร์ (ครั้ง) 6.3
คะแนนเฉลี่ยของการความพึงพอใจของผู้ป่วย 10
คะแนนเฉลี่ยของความมั่นใจในผลการรักษาของผู้ป่วย 10
คะแนนเฉลี่ยของความมั่นใจบุคลการกรในการใช้ยาเคมีบำบัด 10
อภิปรายผล
การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าระบบ Surin One-stop Service Plus หรือ S.O.S.+ ช่วยลดการเดินทาง
และค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดชนิดรับประทานที่ศูนย์มะเร็งโรงพยาบาลสุรินทร์ได้
ระบบนี้เป็นตัวอย่างที่ดีในการแบ่งปันประสบการณ์การรักษาโรคมะเร็งด้วยยาเคมีบำบัดผ่านระบบ
telemedicine ซึ่งพบว่าโรงพยาบาลอำเภอมีความสามารถในการรักษาโรคมะเร็งด้วยยาเคมีบำบัดชนิด
รับประทานได้ ระบบนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วยจาก
พื้นที่ที่อยู่ห่างไกลเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มี
เศรษฐานะไม่ดี ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารักษาในตัวเมือง นอกจากนี้ยังช่วยสร้างความมั่นใจให้กับ
บุคลากรที่โรงพยาบาลอำเภอในการใช้ยาเคมีบำบัดและจัดการภาวะแทรกซ้อนในการรักษาโรคมะเร็งด้วย
อย่างไรก็ดี ระบบนี้ยังอยู่ในช่วงทดลองและจำเป็นต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากศูนย์มะเร็ง
โรงพยาบาลสุรินทร์และโรงพยาบาลอำเภอในจังหวัดสุรินทร์ เป็นเรื่องท้าทายที่ต้องให้ความสำคัญ เพื่อนำ
ทรัพยากรที่มีจำกัด ได้แก่ แพทย์เฉพาะทางโรคมะเร็ง มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยอาศัยระบบเทคโนโลยี
สารสนเทศมาช่วย
สรุปและคำแนะนำ
ไม่ว่าจะมีการพัฒนาด้านการรักษาโรคมะเร็งให้ดีขึ้นเพียงไร การรักษาก็ไม่เกิดประโยชน์ หากผู้ป่วยไม่
สามารถเข้าถึงการรักษาได้ ด้วยเหตุนี้ระบบ Surin One-stop Service Plus (S.O.S.+) ที่ถูกออกแบบมาเพื่อ
เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย และช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางการเงินจากการเดิน
ทางไกลเพื่อมารับการรักษาจึงมีส่วนสำคัญ การศึกษานี้ช่วยยืนยันว่าบุคลากรในโรงพยาบาลอำเภอมีความ
มั่นใจในการดูแลและบริหารยาเคมีบำบัด การสนับสนุนระบบที่มีประโยชน์นี้ควรดำเนินต่อไป และควรส่งเสริม
ให้นำมาใช้กับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดชนิดอื่นๆ โรงพยาบาลศูนย์ที่มีศักยภาพในการรักษาโรคมะเร็งควร
พิจารณานำระบบ S.O.S.+ มาปรับใช้ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล และลดภาระ
ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วยได้