Page 321 - Best Practice Poster 2024 (อัพเดต)
P. 321
H1
โครงการพัฒนารูปแบบการดูแล ฟื้นฟู สุขภาพช่องปาก กลืนได้ กินดี
ในผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ผ่านอสม.ด้วยกลไก 3 หมอ จังหวัดเชียงราย
ทันตแพทย์หญิงพิไลวรรณ กองมา
เครือข่ายทันตบุคลากร โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์
นางสาวรุจิรา แสนดี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เขตสุขภาพที่ 1
ประเภท วิชาการ
ความสำคัญของปัญหา
จากรายงานการเข้าถึงบริการของกลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (ติดบ้าน ติดเตียง) ย้อนหลัง 3 ปีของจังหวัด
เชียงราย (พ.ศ. 2563 – 2565) ได้รับการตรวจสุขภาพช่องปาก ร้อยละ 32.2 24.9 และ 47.7ตามลำดับ และ
ได้รับบริการทางทันตกรรม ร้อยละ 25.7 20.6 37.4 ตามลำดับ จะเห็นได้ว่าผู้สูงอายุกลุ่มนี้มีอัตราการเข้าถึง
บริการค่อนข้างน้อย มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคช่องปากที่รุนแรง นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเกิดภาวะ
ช่องปากเปราะบาง (oral frailty) ประสิทธิภาพการบดเคี้ยวและการกลืนถดถอย จึงมีแนวโน้มการเกิดภาวะ
กลืนลำบากที่เสี่ยงสำลักได้มากกว่ากลุ่มวัยอื่นๆ ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมและทำให้ผู้สูงอายุมีความสามารถ
ในการช่วยเหลือตนเองลดลง ทั้งนี้เครือข่ายทันตบุคลากร จังหวัดเชียงรายได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของ
การมีสุขภาพช่องปากที่ดี และการกลืนที่ปลอดภัยในผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการ
พัฒนารูปแบบระบบบริการสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง โดยผสานความร่วมมือทั้งภาครัฐ
เครือข่ายประชาชน พัฒนา อสม. (หมอที่ 1) และบุคลากรสาธารณสุข (หมอที่ 2) ตามนโยบาย 3 หมอ
ของกระทรวงสาธารณสุข ให้มีความรู้ ทักษะในการคัดกรองสุขภาพช่องปากและการกลืนเบื้องต้น สามารถ
ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปาก การฟื้นฟูความสามารถในการกลืน และส่งต่อในพื้นที่
ได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการนำเทคโนโลยีระบบการแพทย์ทางไกล (telemedicine) มาใช้ เพิ่มการเข้าถึง
บริการแก่ประชาชน ไปจนถึงการสร้างแนวทางในการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง
ในจังหวัดเชียงราย ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งจังหวัด
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้อสม.และบุคลากรสาธารณสุขได้รับการอบรมความรู้และทักษะในการคัดกรองสุขภาพ
ช่องปากและการกลืนเบื้องต้น
2. เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงได้รับการคัดกรองสุขภาพช่องปากและการกลืน รวมถึงได้รับ
การส่งต่ออย่างเหมาะสมตามบริบทของพื้นที่
วิธีการดำเนินงาน
การดำเนินงานในเดือนกรกฎาคม ถึง กันยายน พ.ศ. 2566 ผ่านงบประมาณกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ
จังหวัดเชียงราย
กลุ่มเป้าหมาย (18 อำเภอในจังหวัดเชียงราย) ประกอบไปด้วย ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง จำนวน 3,061 คน
อสม. จำนวน 1,155 คน (อสม. 1-2 คนต่อ 1 หมู่บ้าน) บุคลากรสาธารณสุข 65 คน