Page 396 - Best Practice Poster 2024 (อัพเดต)
P. 396
J9
ผลการใช้โปรแกรมการเตรียมผู้ป่วยผ่าตัดต้อกระจกใส่เลนส์แก้วตาเทียม
หอผู้ป่วยโสต ศอ นาสิก จักษุ โรงพยาบาลบ้านหมี่
นางณัฐพร สวนเพลง และนางเกศรินทร์ ริ้วทอง
โรงพยาบาลบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เขตสุขภาพที่ 4
ประเภท วิชาการ
ความสำคัญของปัญหาวิจัย
จากสถิติผู้ป่วยต้อกระจกในปีงบประมาณ 2562, 2563, 2564 ของโรงพยาบาลบ้านหมี่ มีจำนวน
ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัด 754 ราย, 618 ราย และ 480 รายตามลำดับ โดยในจำนวนดังกล่าวมีการงดและเลื่อนผ่าตัด
ร้อยละ 3.9, 2.1 และ 2.08 ตามลำดับ จากประสบการณ์ของผู้วิจัยในการดูแลผู้ป่วยผ่าตัดต้อกระจก พบว่า
ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในการผ่าตัด ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำ เนื่องจากผู้ป่วยได้รับการเตรียมผ่าตัดที่ไม่ครอบคลุม
ประกอบกับผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุซึ่งมีข้อจำกัดในด้านความจำ และการรับรู้ จึงไม่สามารถรับรู้ข้อมูล
ได้อย่างเต็มที่ และในหอผู้ป่วยโสต ศอ นาสิก จักษุ โรงพยาบาลบ้านหมี่ ยังไม่มีรูปแบบการเตรียมผ่าตัดต้อกระจก
ที่ชัดเจน ผู้วิจัยจึงพัฒนาโปรแกรมการเตรียมผู้ป่วยผ่าตัดต้อกระจกใส่เลนส์แก้วตาเทียมขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วย
มีความพร้อมในการรับการผ่าตัด มีความรู้เรื่องโรค ปฏิบัติตัวก่อนและหลังผ่าตัดได้ถูกต้อง ช่วยลดอุบัติการณ์
การงดหรือเลื่อนผ่าตัด และผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อน และสามารถกลับไปใช้ชีวิต
อย่างมีคุณภาพ
วัตถุประสงค์การศึกษา
1. เพื่อเปรียบเทียบคะแนนความรู้ของผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกใส่เลนส์แก้วตาเทียมระหว่าง
ผู้ที่ได้รับโปรแกรมฯ และผู้ที่ได้รับการพยาบาลตามมาตรฐาน
2. เพื่อเปรียบเทียบคะแนนการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกใส่เลนส์แก้วตาเทียม
ระหว่างผู้ที่ได้รับโปรแกรมฯ และผู้ที่ได้รับการพยาบาลตามมาตรฐาน
3. เพื่อเปรียบเทียบอัตราการเลื่อนผ่าตัดผู้ป่วยผ่าตัดต้อกระจกใส่เลนส์แก้วตาเทียมก่อนและหลัง
การให้โปรแกรมฯ
วิธีการศึกษา
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi-experimental research) ศึกษาในผู้ป่วยที่มารับ
การผ่าตัดต้อกระจกใส่เลนส์แก้วตาเทียมที่หอผู้ป่วยโสต ศอ นาสิก จักษุ โรงพยาบาลบ้านหมี่ ในเดือนธันวาคม
2565 - พฤษภาคม 2566 คำนวณขนาดของกลุ่มตัวอย่างโดยใช้โปรแกรม n4Studies ได้กลุ่มตัวอย่าง 68 ราย
แบ่งเป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง กลุ่มละ 34 ราย ผู้วิจัยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง
(Purposive sampling) เข้ากลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ (Inclusion criteria)
จากนั้นดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยใช้โปรแกรมการเตรียมผู้ป่วยผ่าตัดต้อกระจกใส่เลนส์แก้วตาเทียม
ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นจากการทบทวนความเสี่ยงการเลื่อนและงดผ่าตัดผู้ป่วยไม่พร้อมผ่าตัดที่เกิดขึ้นแล้ว นำมา
กำหนดเป็นแนวทางการเตรียมผู้ป่วยก่อนผ่าตัดต้อกระจกใส่เลนส์แก้วตาเทียม ดังนี้
1. เก็บข้อมูลในกลุ่มควบคุม เดือนธันวาคม 2565 – กุมภาพันธ์ 2566 โดยพยาบาลวิชาชีพให้กิจกรรม
การพยาบาลตามมาตรฐานโดยซักประวัติ ให้ข้อมูลโรค แนะนำการเตรียมตัวก่อนผ่าตัด และการปฏิบัติตัว
หลังผ่าตัด ใช้เวลาประมาณ 5 นาที และเก็บข้อมูลด้วยเครื่องมือวิจัยที่หอผู้ป่วยใน โสต ศอ นาสิก จักษุ จนครบ
จำนวน 34 ราย