Page 73 - Best Practice Poster 2024 (อัพเดต)
P. 73
B1
บทเรียนจากการดำเนินโครงการ EZ Liver Network จังหวัดจันทบุรี
นายแพทย์ภาสกร วันชัยจิระบุญ นายแพทย์พุทธ เมืองไพศาล ผศ.สมหญิง พุ่มทอง
ผศ.ณัฐพร อยู่ปาน ผศ.พัชรี ดวงจันทร์ ภก.อุกฤษฏ์ สิทธิบุศย์
โรงพยาบาลพระปกเกล้า เขตสุขภาพที่ 6
ประเภท วิชาการ
ความสำคัญของปัญหาวิจัย
โรคมะเร็งตับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่มีความสำคัญและเป็นมะเร็งที่พบมากในลำดับต้นๆ ของคนไทย
จากจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ในจังหวัดจันทบุรี ระหว่างปี 2560-2563 พบ ผู้ป่วยมะเร็งตับ แต่ละปีจำนวน 172,
182, 252 และ 261 ราย ตามลำดับ โรงพยาบาลพระปกเกล้าตระหนักถึงปัญหานี้จึงริเริ่มโครงการนำร่อง EZ
Liver Clinic ในเดือนสิงหาคม 2565 วัตถุประสงค์เพื่อคัดกรองผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีในเขตจังหวัดจันทบุรี
เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษา หากผู้ป่วยได้รับการรักษายิ่งเร็วก็จะเกิดผลดีทั้งต่อผู้ป่วยและโรงพยาบาล
ต่อมา ในปี 2566 โครงการฯ เปลี่ยนชื่อเป็น EZ liver network
วัตถุประสงค์การศึกษา
เพื่อศึกษาความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต่อโครงการ EZ liver network
วิธีการศึกษา
เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้วิธีการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) ได้แก่ ผู้บริหาร
ผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งตับและบุคลากรทางการแพทย์ (แพทย์ พยาบาล เทคนิคการแพทย์
และนักวิชาการสาธารณสุข) จากองค์กรที่เกี่ยวข้องระดับประเทศ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงาน
หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสถาบันการศึกษา และจังหวัด ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
จันทบุรี (สสจ.) โรงพยาบาลพระปกเกล้า โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
(รพ.สต.) จำนวน 18 คน คัดเลือกแบบเจาะจง (purposive sampling) สัมภาษณ์เดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม
2567 เวลาสัมภาษณ์เฉลี่ย 40 นาทีต่อคน ใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา งานวิจัยนี้ได้รับการอนุญาตจาก
คณะกรรมการจริยธรรมวิจัยในมนุษย์ของโรงพยาบาลพระปกเกล้า COA no.066/66
ผลการศึกษา
ปี 2565 ทีมแพทย์โรงพยาบาลพระปกเกล้า จัดตั้งโครงการนำร่อง EZ liver clinic ขึ้น เนื่องจากพบ
ผู้ป่วยมะเร็งตับในจังหวัดจันทบุรีเพิ่มขึ้น และเริ่มศึกษาสถานการณ์ในจังหวัดโดยประสานกับโรงพยาบาลต่างๆ
เพื่อหาข้อมูลอุบัติการณ์ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบี มีการของบประมาณจาก สปสช. และชุดตรวจเพื่อคัดกรอง
กลุ่มเสี่ยง รวมทั้งประสานงานกับองค์กรท้องถิ่น ผลการดำเนินงานในระยะแรก ทำให้ สสจ. เห็นความสำคัญ
และประโยชน์ของโครงการฯ จึงเกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมระหว่าง สสจ. และ โรงพยาบาลพระปกเกล้า
โดยแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกัน ควบคุมและการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ประกอบด้วยคณะกรรมการ
ย่อย 2 ชุด คือ คณะกรรมการด้านคัดกรอง รักษา ส่งต่อและติดตามโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี และ
คณะกรรมการด้านข้อมูลเฝ้าระวังและบูรณาการเครือข่ายป้องกันควบคุมโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี เพื่อให้การ
ดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทั้งด้านการบริหารจัดการ จัดหางบประมาณ การให้บริการตรวจรักษา
ตลอดจนการกำกับติดตาม มีการขยายเครือข่ายทำงานไปยัง รพช. และ รพ.สต. ตลอดจนเครือข่ายอาสาสมัคร
สาธารณสุข จึงเปลี่ยนชื่อเป็น EZ liver network จากการสัมภาษณ์พบว่าผู้ให้ข้อมูลทั้งหมดมีเจตคติในเชิงบวก
เห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของโครงการ ผู้อำนวยการ รพช. ทุกแห่ง ยินดีเข้าร่วมเป็นเครือข่ายทำงาน