Page 62 - Best practice_Oral2024 (อัพเดต)
P. 62
A23
การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันชนิด STEMI
เครือข่ายจังหวัดเลย
นางพรวีนัส โสกัณทัต นายแพทย์พลากร จันทรนิมิ และ
ทีมพัฒนาเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ จังหวัดเลย
โรงพยาบาลเลย จังหวัดเลย เขตสุขภาพที่ 8
ประเภท วิชาการ
ความสำคัญของปัญหาวิจัย
ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันชนิด STEMI เป็นกลุ่มโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง
เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย สถานการณ์ผู้ป่วย STEMI ของจังหวัดเลย ในปี 2563-2565 มีผู้ป่วย STEMI
จำนวน 126,129 และ 138 ราย ตามลำดับ โดยมีผู้ป่วยเสียชีวิตในปี 2563 -2565 ร้อยละ 7.1, 7.7 และ
9.4 ตามลำดับ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป้าหมายของการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
ชนิด STEMI คือการวินิจฉัยและรักษาได้ถูกต้อง รวดเร็ว เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต บริบทของจังหวัดเลย
สามารถให้ยา Streptokinase (SK) เพื่อเปิดหลอดเลือดหัวใจได้แต่ยังทำการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน
และใส่ขดลวด (Percutaneous Coronary Intervention: PCI) ไม่ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องส่งต่อไปยัง
โรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการทำ PCI ที่ใกล้ที่สุดได้แก่โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานีทุกราย เส้นทางการเดินทาง
จากโรงพยาบาลชุมชนถึงโรงพยาบาลเลยและจากโรงพยาบาลเลยถึงโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ส่วนใหญ่
เป็นเส้นทางคดเคี้ยวเลี้ยวผ่านภูเขา ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางอย่างน้อย 3-5 ชั่วโมง จากการทบทวน
ผู้ป่วย STEMI ที่มาถึงโรงพยาบาลภายใน 150 นาที (onset to hospital) มีเพียงร้อยละ 66.0 ,67.4 และ
65.9 ตามลำดับซึ่งยังไม่เป็นไปตามเกณฑ์เป้าหมาย (ค่าเป้าหมายมากกว่าร้อยละ 80) และพบว่าผู้ป่วย
ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่มาโรงพยาบาลล่าช้า มีอาการรุนแรงตั้งแต่แรกรับ ได้แก่ มีภาวะหัวใจหยุดเต้นก่อนมาถึง
โรงพยาบาล มีภาวะช็อกจากหัวใจ เป็นต้น นอกจากนี้ระหว่างการส่งต่อผู้ป่วยมายังสถานบริการที่มีศักยภาพสูง
กว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิต 2 รายในปี 2565 และอัตราเสียชีวิตภายหลังจำหน่าย 30 วันของผู้ป่วย STEMI
ร้อยละ 2.6, 1.7 และ 1.7 ตามลำดับ (สถิติผู้ป่วย STEMI จังหวัดเลย, 2563-2565) ดังนั้นทีมพัฒนาเครือข่าย
การดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาศักยภาพการดูแลผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
เฉียบพลัน (STEMI) ตั้งแต่ก่อนถึงโรงพยาบาล ในโรงพยาบาล การส่งต่อที่ปลอดภัยรวมทั้งการติดตามดูแล
ภายหลังจำหน่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
วัตถุประสงค์การศึกษา
เพื่อพัฒนารูปแบบและประเมินผลลัพธ์การใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
เฉียบพลันชนิด STEMI เครือข่ายจังหวัดเลย
วิธีการศึกษา
ดำเนินการระหว่างเดือนตุลาคม 2565 - ธันวาคม 2566
เป็นการพัฒนาคุณภาพงานอย่างต่อเนื่อง (CQI) เพื่อพัฒนาและประเมินผลลัพธ์การใช้รูปแบบการดูแล
ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันชนิด STEMI เครือข่ายจังหวัดเลย แบ่งการดำเนินการเป็น 3 ระยะ
ได้แก่ ระยะที่ 1 วิเคราะห์สถานการณ์, ระยะที่ 2 พัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
เฉียบพลันชนิด STEMI เครือข่ายจังหวัดเลย และระยะที่ 3 ประเมินผลลัพธ์การใช้รูปแบบฯ โดยใช้แนวคิด
3CPDSA เพื่อให้ได้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันชนิด STEMI เครือข่ายจังหวัด
เลยที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และมีการปรับปรุงการพัฒนา PDSA 2 วงรอบ