Page 253 - Best Practice Poster 2024 (อัพเดต)
P. 253
F11
ผลของโปรแกรมการชี้แนะผู้ดูแลเด็กวัยเรียนโรคหืดแบบบูรณาการของสหสาขาวิชาชีพ
โดยใช้วิธีติดตามสุขภาพทางไกล
The effect of coaching program among caregiver school-age children with asthma
integrated multidisciplinary teams using telehealth methods.
นางสุกัญญา พินหอม, ปัญญาดา วงศ์สมบัติ, ฐิติมา แซ่แต้, เภสัชกรหญิงภาวนา รัตนทิพา,
นายแพทย์อธิพัฒน์ อธิพงษ์อาภรณ์, แพทย์หญิงอาภานุช พันธุ์เทียน
โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เขตสุขภาพที่ 4
ประเภท วิชาการ
ความสำคัญของปัญหาวิจัย
โรคหืด (Asthma) เป็นโรคเรื้อรังที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก และมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นทุกปี (WHO, 2023)
ซึ่งเกิดจากการอักเสบเรื้อรังของทางเดินหายใจ ผู้ป่วยโรคหืดในประเทศไทย มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าในรอบ 20 ปี
ส่วนใหญ่เป็นเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ และร้อยละ 80 ของผู้ป่วยมีภูมิแพ้จมูกร่วมด้วย (เว็บไซต์ Hfocus.org เจาะลึก
ระบบสุขภาพ; 2566) จากข้อมูลสถิติ OPD เด็ก โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา พบว่าโรคหืดเป็นโรค Top 5
ของแผนก โรคหืดยังเป็นโรคที่เป็นปัญหาสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม
(Lozier et al., 2019) ผู้ดูแลเด็กจำเป็นจะต้องให้ความร่วมมือในการดูแลรักษาด้วยการปฏิบัติตามแผนการรักษา
และมีพฤติกรรมการดูแลตนเองอย่างถูกต้อง เพื่อควบคุมอาการหืดกำเริบ
เด็กวัยเรียน เป็นเด็กที่มีอายุ 7-12 ปี เด็กวัยนี้จะมีความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้
แต่ก็ยังต้องพึ่งพาผู้ดูแลในการส่งเสริม และควบคุมกำกับติดตามพฤติกรรมของเด็ก (Hockenberry and
Wilson, 2015) มีการศึกษา พบว่า ผู้ดูแลเด็กยังมีพฤติกรรมการดูแลเด็กโรคหืดไม่เหมาะสม โดยไม่นำเด็กมารักษา
ต่อเนื่อง เพราะคิดว่าเด็กหายป่วยแล้ว บางครั้งพ่นยาไม่ถูกวิธี ลืมพ่นยา และพ่นยาผิดชนิด (อกนิษฐ์ กมลวัชรพันธุ์,
2555) และจากการรวบรวมข้อมูลที่ OPD เด็ก โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา พบว่า ร้อยละ 80 ผู้ดูแลยังมีพฤติกรรม
การดูแลที่ไม่ถูกต้อง ให้เด็กพ่นยาเองโดยไม่ได้กำกับ และผู้ดูแลเด็กที่บ้านเป็นคนละคนกับที่พามาตรวจ หรือสลับกัน
ดูแล จากการศึกษา พบว่า มีการศึกษาการดูแลเด็กโรคหืดหลายรูปแบบ แต่จำนวนผู้ป่วยยังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
มีอาการหืดกำเริบได้บ่อย นั่นแสดงให้เห็นว่ารูปแบการสอนยังไม่มีความเหมาะสมกับผู้ดูแลเด็ก
ผู้วิจัยจึงสร้างโปรแกรมการชี้แนะผู้ดูแลเด็กวัยเรียนโรคหืดแบบบูรณาการร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ
โดยใช้วิธีติดตามสุขภาพทางไกล เพื่อให้ผู้ดูแลเด็กสามารถดูแลเด็กได้อย่างถูกต้อง ลดภาวะแทรกซ้อน
และป้องกันหืดกำเริบ โดยใช้แนวคิดการชี้แนะของ Girvin (1999) ซึ่งใช้เทคนิคการสอน ควบคู่กับการสาธิต
การติดตามทาง Telehealth โดยใช้ระบบไลน์ ซึ่งมีผู้วิจัย และผู้ร่วมวิจัยสหสาขาวิชาชีพเป็นผู้สอน ชี้แนะ
ให้กำลังใจ สร้างความมั่นใจ เน้นย้ำความรู้ และทักษะของผู้ดูแลเด็กแต่ละบุคคลที่แตกต่างกัน มีการประเมิน
ผู้เรียนตลอดเวลา นอกจากนั้นมีการติดตามทางการเยี่ยมบ้าน มีช่องทางติดต่อสอบถามทางไลน์กลุ่ม รวมทั้ง
มีแหล่งความรู้ หลักการดูแลเด็กโรคหืด และมีการส่งข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัยเมื่อกลับไปอยู่บ้าน เพื่อเป็นการกระตุ้น
เตือนให้เกิดพฤติกรรมการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน
วัตถุประสงค์การศึกษา
1. เพื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยความรู้ และพฤติกรรมของผู้ดูแลเด็ก ภายหลังได้รับโปรแกรม
การชี้แนะผู้ดูแลเด็กวัยเรียนโรคหืดแบบบูรณาการของสหสาขาวิชาชีพ ระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม